MM-cover-บทความ ขนมไทยยอดนิยม

10 ขนมหวานไทยยอดนิยม [ทำง่ายๆ ได้ที่บ้าน]

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย “ขนมหวานไทย” ก็ยังคงยอดนิยมกันจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยรสชาติอร่อยที่ถูกสร้างสรรค์ให้ออกมาถูกปากถูกใจคนไทย และขนมหวานไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าตาที่สวยงามชวนน่ารับประทานอีกด้วย 

นอกจากรสชาติที่อร่อย และหน้าตาน่ารับประทานแล้ว ขนมหวานไทยยังผ่านการพลิกแพลงทั้งนำ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ มาประยุกต์เป็นขนมหวานรสชาติอร่อย โดยยังใส่ความสร้างสรรค์ให้กับหน้าตาของขนมหวานไทยได้อย่างไม่จำกัดอีกด้วย

วันนี้เราจึงรวบรวม 10 ขนมหวานไทยยอดนิยมที่คุณเองก็สามารถทำเองได้ที่บ้านมาฝาก! ถ้าคุณเป็นคนนึงที่ชื่นชอบขนมไทยแล้วล่ะก็ห้ามพลาด มาอ่านแล้วตามหาเมนูโปรดของคุณเลย

10 ขนมหวานไทยยอดนิยม ทำได้ง่ายจากที่บ้าน

เรามักจะคิดว่า “เมนูขนมหวานไทย” มักจะทำยาก มีขั้นตอนที่เยอะแยะมากมาย ใช้ส่วนผสมหลายอย่าง และใช้เวลาทำเยอะ แต่จริงๆ แล้วก็มีขนมไทยบางเมนูที่สามารถทำได้ง่าย ทำเองได้ที่บ้าน 

เพียงแต่ต้องอาศัยความใส่ใจและความตั้งใจในการทำลงไป ขนมไทยก็จะออกมามีหน้าตาสวยงามเหมือนในภาพ มีกลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน และยังมีรสชาติที่อร่อยอีกด้วย 

มาดูกันเลยว่ามีเมนูขนมไทยยอดนิยมอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้เองจากที่บ้าน

1. ลูกชุบ

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 1 ลูกชุบ

ลูกชุบขนมไทยที่ว่ากันว่าถูกประยุกต์มาจากขนมของโปรตุเกสตั้งแต่ในสมัยอยุธยาเพื่อให้ใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในเมืองไทย และมีการนำมาปรับให้รสชาติถูกปากคนไทยด้วย โดยนอกจากจะเป็นขนมที่มีมายาวนานแล้ว ยังเป็นขนมรสชาติอร่อยที่มีหน้าตาสวยงาม และสร้างสรรค์หน้าตาของลูกชุบได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่รูปผักผลไม้ธรรมดาๆ เพราะสมัยนี้ลูกชุบกลายเป็นขนมหวานไทยสุดล้ำที่จะปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้แล้ว!

เห็นหน้าตาสวยงามน่าทานแบบนี้บอกเลยว่าทำได้ง่ายสุดๆ โดยเฉพาะหากใครมีฝีมือในด้านศิลปะแล้วล่ะก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะมีวัตถุดิบเพียงแค่ ถั่วกวน, ผงวุ้น, น้ำตาลทราย, สีผสมอาหาร และน้ำเปล่า เพียงเท่านี้คุณก็ทำลูกชุบง่ายๆ ที่บ้านได้แล้ว

เตรียมส่วนผสมลูกชุบ

ส่วนผสมสำหรับทำไส้ถั่วกวน

  1. ถั่วเขียวเลาะเปลือก 1 + ½ ถ้วยตวง
  2. น้ำตาลทราย ½  ถ้วยตวง
  3. กะทิ
  4. เกลือ ¼ ช้อนชา

ส่วนผสมวุ้นสำหรับชุบ

  1. ผงวุ้น
  2. น้ำเปล่า
  3. น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง
  4. สีผสมอาหาร
  5. กลิ่นมะลิ ½  ช้อนชา

ขั้นตอนการทำลูกชุบ

การทำไส้ถั่วกวน

  1. นำถั่วเขียวเลาะเปลือกล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ จนกว่าสีของน้ำจากสีเหลืองอ่อน จะเปลี่ยนเป็นสีใสสะอาด หลังจากนั้นจึงแช่ถั่วเขียวเลาะเปลือกกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง ให้ถั่วเขียวพองตัวอิ่มน้ำจนนิ่ม แล้วจึงนำไปล้างให้สะอาดอีกครั้ง
  2. นำถั่วเขียวที่แช่เสร็จแล้วใส่ในหม้อนึ่ง นึ่งนานประมาณ 15-20 นาที ด้วยไฟกลางจนกระทั่งถั่วเขียวสุก
  3. นำถั่วเขียวนึ่งสุกที่นิ่มแล้วลงใส่ในโถปั่น โดยแบ่งการปั่นทีละน้อย เพื่อเพิ่มความชัวร์ว่าถั่วกวนของเราจะละเอียดมากพอก็ได้
  4. ใส่น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง ตามด้วยเกลือป่น 1/4 ช้อนชา หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง และจึงปั่นส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอย่างละเอียด 
  5. เทส่วนผสมทั้งหมดลงในกะทะด้วยไฟอ่อนๆ และค่อยๆ กวนไส้ไปเรื่อยๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง จนได้ไส้ถั่วกวนแห้ง และเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงนำออกจากกระทะ ใช้ไม้พายยีๆ ตัวไส้ถั่วกวนเพื่อให้ไส้ระบายความร้อนได้เร็วขึ้น หรือพักทิ้งไว้ให้จนไส้ถั่วกวนเย็นลง 

การทำวุ้นสำหรับชุบ

  1. มาเริ่มทำตัววุ้นสำหรับใช้ชุบ ด้วยการใส่ผงวุ้น 2 ช้อนชา ลงแช่ในน้ำเปล่าประมาณ 10 นาที ให้วุ้นอิ่มน้ำ
  2. เติมน้ำเปล่าประมาณ 2 ถ้วยตวง ลงในหม้อต้มน้ำ ตามด้วยผงวุ้นที่แช่ทิ้งเอาไว้ประมาณ 1 ถ้วยตวง และใส่น้ำตาลทราย 1/ 2 ถ้วยตวงตามลงไป แล้วจึงเคี่ยวส่วนผสมให้เข้ากันด้วยไฟกลาง ประมาณ 15 นาที เพื่อให้วุ้นจมลงไป และคนเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้วุ้นจับตัวเป็นก้อน 
  3. เมื่อน้ำเดือดจึงคนต่ออีกประมาณ 2-3 นาที จากนั้นค่อยปิดไฟ ยกลงใส่ภาชนะ และพักวุ้นทิ้งไว้สักประมาณ 5 นาที เพื่อให้วุ้นเซ็ตตัว
  4. เตรียมสีผสมอาหารตามใจชอบ แนะนำให้ใช้สีผสมอาหาร 1 ฝาต่อน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ หรือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบเข้มอ่อนของสี
  5. เริ่มปั้นลูกชุบ โดยแบ่งลูกชุบเป็นก้อนๆ ปั้นให้เกิดรูปได้ตามต้องการ หลังจากปั้นเสร็จแล้ว ให้นำลูกชุบรูปทรงต่างๆ เสียบกับไม้ปลายแหลม โดยเสียบแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นแค่ปลายไม้ 
  6. หลังจากนั้นนำลูกชุบไปชุบกับสีผสมอาหารที่เตรียมเอาไว้ สามารถใช้พู่กันทำให้เกิดลวดลายได้ตามใจชอบ พักไว้ให้แห้ง แล้วจึงค่อยเริ่มชุบวุ้น โดยจะชุบทั้งหมด 2 ครั้ง คือชุบครั้งแรกพักทิ้งให้แห้ง แล้วจึงเริ่มชุบครั้งที่ 2 โดยเราจะต้องวางและเสียบลูกชุบแต่ละไม้เว้นระยะ ไม่ให้ติดกัน
  7. เมื่อชุบวุ้นจนแห้งแล้ว นำลูกชุบมาตกแต่งต่อด้วยอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมความน่ารัก เพียงเท่านี้เราก็จะได้ลูบชุบหน้าตาน่ารับประทานแล้วค่ะ 

2. ขนมใส่ไส้

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 2 ขนมใส่ไส้

“ขนมใส่ไส้” ขนมที่เวลาทานจะต้องแกะห่อใบตองออกจึงจะพบกับขนมใส่ไส้ที่อยู่ด้านใน โดยมีรสชาติอร่อยเต็มคำไปด้วยความเค็มมันของแป้งและกะทิ บวกกับรสชาติหวานของไส้มะพร้าวขูดที่ปรุงรสชาติอย่างเข้มข้น หยิบมาทานตอนไหนก็อร่อยไม่มีเบื่อ

วิธีทำขนมใส่ไส้

ส่วนผสมสำหรับ 15 ห่อ

  1. น้ำตาลปี๊ป 100 กรัม
  2. แป้งข้าวเหนียว 175 กรัม
  3. น้ำใบเตยปั่นละเอียด 150 มิลลิลิตร
  4. กะทิ 400 มิลลิลิตร
  5. แป้งข้าวเจ้า 40 กรัม
  6. เกลือป่น ½  ช้อนชา สำหรับใส่ในไส้ 
  7. เกลือป่น ½  ช้อนชา สำหรับใส่ในกะทิ
  8. มะพร้าวขูด
  9. กลิ่นมะลิ ½  ช้อนชา
  10. ใบตองสำหรับห่อขนม
  11. ไม้สำหรับกลัด หรือไม้จิ้มฟัน

ขั้นตอนการทำขนมใส่ไส้

  1. นำใบตองสำหรับห่อมาตัดแบ่ง โดยจะแบ่งตัดเป็น 2 ขนาด สำหรับใช้ห่อชั้นใน และชั้นนอก โดยให้ฉีกใบตองชั้นนอกขนาดประมาณ 5 นิ้ว และสำหรับชั้นในขนาดประมาณ 4 นิ้ว และตัดทรงให้เป็นรูปวงรี เพื่อให้สามารถห่อได้ง่ายขึ้น พร้อมกับเช็ดใบตองให้สะอาดเตรียมพร้อมสำหรับห่อขนม
  2. นำมะพร้าวที่ขูดแล้วมาใส่เกลือป่น พร้อมน้ำตาลปี๊บแล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อน พร้อมกวนส่วนผสมทั้งหมดไปเรื่อยๆ ประมาณ 15 นาที จนส่วนผสมเริ่มแห้งจึงปิดไฟแล้วพักทิ้งไว้ให้เย็น
  3. นำแป้งข้าวเหนียวและน้ำใบเตยมาผสมเข้าด้วยกัน พร้อมกับนวดจนแป้งเริ่มจับตัวเป็นก้อน จากนั้นพักทิ้งไว้และคลุมด้วยพลาสติก
  4. ตั้งไฟนำกะทิ 100 มิลลิลิตร เทผสมกับแป้งข้าวเจ้า เกลือป่น และใส่กลิ่นมะลิเพิ่มความหอม คนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันจนแป้งจับตัวเป็นเม็ด แล้วจึงใส่กระทิ 300 มิลลิลิตรที่เหลือ คนต่อไปเรื่อยๆ ด้วยไฟอ่อนๆ จนกะทิข้นขึ้นจึงปิดไฟ และพักทิ้งไว้ให้เย็น
  5. นำตัวไส้ที่เย็นแล้วมาปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ ขนาดประมาณ 1 นิ้ว และปั้นตัวแป้งให้เป็นก้อนกลมๆ แต่ต้องมีขนาดใหญ่กว่าตัวไส้ หลังจากนั้นจึงแผ่ตัวแป้งออก พร้อมกับวางตัวไส้ลงตรงกลางแป้ง พร้อมกับห่อตัวแป้งให้มิดไส้
  6. นำใบตองทั้งชั้นนอก และชั้นในมาประกบกัน แล้วจึงนำขนมที่ปั้นไว้วางบนใบตอง พร้อมราดด้วยน้ำกะทิประมาณ ½ ช้อนโต๊ะ แล้วจึงพับใบตองให้เป็นทรงสูง ก่อนจะคาดทับด้วยใบมะพร้าว และใช้ไม้กลัดตัวขนมไว้ไม่ให้หลุด
  7. ตั้งหม้อนึ่ง นำขนมไปนึ่งในน้ำที่เดือดจัดนานประมาณ 20 นาที (หากลองเช็คแล้วยังไม่สุกดีให้นึ่งต่อได้) เมื่อครบเวลาแล้วพร้อมจัดเสิร์ฟ

3. ขนมชั้น

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 3 ขนมชั้น

“ขนมชั้น” อีกหนึ่งในเมนูขนมหวานไทยยอดนิยม ด้วยหน้าตาที่เป็นชั้นๆ ดูหนึบหนับน่าทาน มีรสชาติหวาน เนื้อเหนียวนุ่ม และหอมกลิ่นใบเตย เป็นอีกหนึ่งเมนูขนมหวานที่สามารถทำได้เองจากที่บ้าน และปรับเปลี่ยนรสชาติได้หลากหลายเลยล่ะ

วิธีทำขนมชั้น

ส่วนผสมขนมชั้นสำหรับเสิร์ฟ 4 คน

  1. แป้งมัน 320 กรัม
  2. แป้งข้าวโพด 80 กรัม
  3. แป้งข้าวเจ้า 80 กรัม
  4. แป้งท้าวยายม่อม 40 กรัม
  5. น้ำตาลทรายขาว 550 กรัม
  6. กะทิ 3 ถ้วย
  7. น้ำเปล่า 1 ถ้วย
  8. สีผสมอาหาร (สีเขียว, สีฟ้า หรือสีตามใจชอบ)

วิธีทำขนมชั้น

  1. นำแป้งทั้งหมดมาผสมเข้าด้วยกันและพักทิ้งไว้
  2. นำน้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟกลาง แล้วจึงใส่น้ำตาลตามลงไป เคี่ยวไปเรื่อยๆ และเมื่อน้ำตาลละลายดีจนกลายเป็นน้ำเชื่อมแล้วให้ยกลงจากเตา และพักทิ้งไว้ให้เย็น
  3. เมื่อน้ำเชื่อมเย็นตัวลงแล้วให้ใส่กะทิ พร้อมคนให้เข้ากัน 
  4. นำกะทิและน้ำเชื่อมไปเทผสมกับแป้งทั้งหมดที่เตรียมเอาไว้ โดยค่อยๆ เททีละนิดพร้อมขยำให้แป้งเข้ากันดี 
  5. หลังจากนั้นแบ่งแป้งออกเป็น 2 ส่วน แล้วนำส่วนที่ 1 ใส่สีผสมอาหารลงไป สามารถใช้ทั้งสีฟ้า เขียว หรือสีตามใจชอบ
  6. หลังจากนั้นเตรียมนึ่งโดยนำถาดพิมพ์มาเตรียมเอาไว้ แล้วเทแป้งส่วนที่ 1 ที่ใส่สีผสมอาหารแล้วลงไปก่อน เทให้มีความหนาประมาณ 2 มล. แล้วนำไปนึ่งประมาณ 10 นาที
  7. เมื่อนึ่งส่วนที่ 1 เสร็จแล้ว ให้เทแป้งสีที่ 2 ตามลงไปทับบนหน้าด้วยความหนา 2 มล. แล้วจึงทำแบบนี้สลับชั้นกันไปเรื่อยๆ
  8. เมื่อทำครบจนได้หลายแล้ว พักทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำออกมาตัดเป็นชิ้นๆ ก่อนเสิร์ฟ

4. ขนมตาล

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 4 ขนมตาล

“ขนมตาล” เมนูขนมหวานไทยที่มีสีสันสวยสดใสชวนรับประทาน เสิร์ฟพร้อมกับมะพร้าวโรยหน้าแล้วล่ะก็บอกเลยว่ารสชาติ และกลิ่นหอมคือที่สุด! และความอร่อย กับกลิ่นหอมนี้ก็ทำตามกันเองได้ที่บ้านไม่อยากเลยค่ะ

วิธีทำขนมตาล

ส่วนผสมขนมตาล 20 ชิ้น

  1. เนื้อลูกตาลสุก 200 กรัม
  2. แป้งข้าวเจ้า 350 กรัม
  3. น้ำตาลทราย 320 กรัม
  4. กะทิ 300 มิลลิลิตร
  5. เกลือ ½  ช้อนชา
  6. ผงฟู 1 ช้อนชา
  7. มะพร้าวขูด

วิธีทำขนมตาล

  1. นำใบตองมาพับเป็นทรงกลมแบบถ้วยสำหรับเป็นพิมพ์ใส่ขนม 
  2. ใส่กะทิ และน้ำตาลลงในชามผสม คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จนน้ำตาลละลายหมดจึงใส่เนื้อลูกตาลสุกลงไป พร้อมตีให้เข้ากัน
  3. หลังจากนั้นจึงใส่แป้งข้าวเจ้า ผงฟู และเกลือตามลงไป พร้อมกับตีผสมให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน
  4. นำส่วนผสมทั้งหมดมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้เนื้อแป้งเนียนละเอียด แนะนำให้กรองประมาณ 2-3 รอบ แล้วจึงพักแป้งทิ้งไว้ 10 นาที 
  5. ระหว่างพักแป้งให้นำใบตองนึ่งก่อนประมาณ 1 นาที เพื่อไม่ให้แป้งติดใบตอง
  6. หลังจากนั้นเทแป้งลงในพิมพ์ใบตอง ใช้เวลานึ่งประมาณ 20 นาที 
  7. เมื่อสุกแล้วนำยกลงจากเตา ใส่มะพร้าวขูดโรยหน้า พร้อมจัดเสิร์ฟได้เลย

5. สังขยาฟักทอง

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 5 สังขยาฝักทอง

ขนมหวานไทยที่นำเอาฟักทองมาใส่สังขยา กลายเป็นส่วนผสมความอร่อยที่ลงตัวและเข้ากันมากๆ เพราะตัวฟักทองที่เมื่อนำไปนึ่งก็จะมีเนื้อนิ่มทานง่าย รวมกับกับสังขยาที่มีกลิ่นหอมและรสชาติที่หวานละมุน โดยมีวิธีทำและขั้นตอนที่ไม่ยาก ถ้าพร้อมแล้วมาเตรียมอุปกรณ์แล้วลงมือทำกันเลย

วิธีทำสังขยาฟักทอง

ส่วนผสมสำหรับสังขยาฟักทอง 1 ลูก

  1. ฟักทอง 1 ลูก
  2. กะทิ 200 มล.
  3. ไข่ไก่ 2 ฟอง
  4. ไข่เป็ด 2 ฟอง
  5. น้ำตาลปี๊บ 180 กรัม
  6. เกลือ 1 ช้อนชา
  7. ใบเตย

ขั้นตอนการทำสังขยาฟักทอง

  1. นำฟักทองคว้านฝาและคว้านเมล็ดออกให้เรียบร้อย โดยให้เหลือเพียงแต่ใยด้านในให้เก็บเอาไว้ เพื่อช่วยยึดตัวสังขยาไม่ให้หลุดออกเวลานำไปนึ่ง แล้วจึงนำฟักทองไปทำความสะอาดด้านใน และด้านนอกให้สะอาด พักทิ้งไว้ให้ฟักทองแห้งจึงค่อยนำมาทำต่อ
  2. ใส่ไข่ไก่ และไข่เป็ดลงในชามผสม ตามด้วยกะทิ น้ำตาลปี๊บ และใบเตย หลังจากนั้นใช้วิธีการขยำส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน เมื่อเริ่มเข้ากันแล้วเพื่อให้ได้สังขยาที่เนื้อเนียน ให้กรองส่วนผสมด้วยผ้าขาวบาง หรือกระชอนตาถี่ก่อนใส่ลงในฟักทอง โดยควรกรองมากกว่า 1 ครั้งเพื่อให้ได้เนื้อสังขยาที่เนื้อเนียนจริงๆ
  3. เทสังขยาลงในฟักทอง โดยเหลือบริเวณด้านบนไว้เล็กน้อย เพื่อไม่ให้สังขยาล้นฟักทองเมื่อนำไปนึ่ง ขณะเทหากมีฟองให้ตักออกให้หมด
  4. นำฟักทองสังขยาไปนึ่งประมาณ 45 นาที วิธีเช็คว่าสังขยาสุกดีแล้วหรือยัง ให้ใช้ไม้จิ้มปลายแหลมจิ้มลงไปเช็คที่สังขยา ถ้าหากไม่มีเนื้อสังขยาติดขึ้นมาตามไม้จิ้มแสดงว่าเนื้อสังขยาสุกดีแล้ว
  5. เมื่อฟักทองสังขยาสุกแล้ว นำออกจากซึ้งมาพักทิ้งไว้ให้ฟักทองสังขยาเซ็ตตัว และนำมาตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ก่อนจัดเสิร์ฟ

6. ขนมตะโก้

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 6 ขนมตะโก้

ขนมตะโก้เมนูขนมหวานไทยที่มีรสชาติครบเครื่องทั้งหอมหวานมันอร่อย เรียกได้ว่ากลมกล่อมครบจบในขนมเดียวเลย โดยขนมตะโก้เองปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายไส้ ทั้งตะโก้ข้าวโพดยอดฮิต หรือตะโก้เผือก ที่ไม่ว่าจะเป็นตะโก้แบบไหนก็เป็นขนมหวานไทยยอดนิยมของคนทุกรุ่น ความอร่อยของขนมตะโก้นอกจากชั้นไส้แล้วยังอยู่ที่กะทิที่ทั้งหอมมันเค็มช่างตัดกับความหวานของตัวไส้ ใครที่อยากลองทำดูบ้าง ต้องบอกเลยว่าการทำตะโก้ไม่ยากเกินที่จะทำเองที่บ้านอย่างแน่นอน

วิธีทำขนมตะโก้

ส่วนผสมตัวแป้งขนมตะโก้ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่

  1. แป้งมัน 80 กรัม
  2. น้ำเปล่า 500 มิลลิลิตร
  3. กะทิ 500 มิลลิลิตร
  4. น้ำตาลทราย 100 กรัม
  5. เกลือ ¼ ช้อนชา
  6. ข้าวโพด 100 กรัม (หรือเผือก ตามใจชอบ)
  7. ใบเตย 1 ใบ
  8. ใบตองสำหรับใส่ขนม

ส่วนผสมหน้าขนมตะโก้ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่

  1. แป้งมัน 80 กรัม
  2. เกลือ ½ ช้อนชา
  3. น้ำตาลทราย 50 กรัม

ขั้นตอนการทำขนมตะโก้

  1. นำน้ำเปล่าเทใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ ก่อนจะใส่ข้าวโพด แป้งมัน น้ำตาลทราย และเกลือ เคี่ยวต่อไปเรื่อยๆ จนแป้งเริ่มเหนียวข้นขึ้น จึงปิดไฟยกลงจากเตา
  2. เทขนมใส่ใบตองสะอาดที่เตรียมเอาไว้ โดยใส่แค่ ⅔ ของใบตอง แล้วจึงพักทิ้งไว้ให้เย็นตัวลง
  3. ระหว่างพักแป้งให้ใส่กะทินำขึ้นตั้งไฟกลาง แล้วจึงใส่แป้งมัน น้ำตาลทราย ใบเตย คนทั้งหมดให้เข้ากันจนแป้งเริ่มเหนียวข้นขึ้น จึงปิดไฟยกลงจากเตา
  4. ตักกะทิราดลงบนหน้าชั้นแป้งที่เซ็ตตัวแล้วจนเต็มกระทง แล้วจึงพักทิ้งไว้ให้เย็นตัวลง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทุกชิ้น 
  5. นำข้าวโพดต้มสุก เผือก หรือหน้าอื่นๆ ตามแต่ชอบโรยหน้าตกแต่งหน้าตะโก้ พร้อมนำเสิร์ฟได้

7. ฝอยทอง

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 7 ฝอยทอง

อีกหนึ่งเมนูขนมหวานที่ได้สีเหลืองทองสวยจากไข่แดง โดยเคล็ดลับของความอร่อยของฝอยทองคือจะต้องม้วนตัวให้เรียงเป็นเส้นสวย ดังนั้นขั้นตอนในการทำฝอยทองจะต้องมีความพิถีพิถัน แต่แน่นอนว่า! ความพิถีพิถันนี้ไม่ยากแน่นอน เพราะถ้าได้ลองทำแล้วรับรองว่าจะได้พบกับความอร่อยหวานฉ่ำที่ฟินแน่นอน

วิธีทำฝอยทอง

ส่วนผสมฝอยทอง


  1. ไข่แดงของไข่เป็ด 6 ฟอง
  2. ไข่แดงของไข่ไก่ 3 ฟอง
  3. น้ำเปล่า 1 ลิตร
  4. น้ำตาลทราย 1 กก.
  5. กลิ่นมะลิ
  6. ไม้ปลายแหลม

ขั้นตอนการทำฝอยทอง

  1. แยกไข่ขาว และไข่แดงออกจากกันทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ โดยกรองไข่แดงทั้งหมดด้วยผ้าขาวบาง ให้ได้ไข่แดงที่ละเอียด เพื่อฝอยทองที่เส้นสวย แนะนำให้กรอง 2-3 ครั้ง
  2. นำหม้อใส่น้ำเปล่า และนำขึ้นตั้งไฟโดยใช้ไฟกลาง แล้วจึงใส่น้ำตาล กลิ่นมะลิ คนไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลละลายเริ่มละลายจึงใช้ไฟอ่อน
  3. คนไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลเริ่มมีความข้นเป็นน้ำเชื่อม และเมื่อน้ำเชื่อมในกะทะมีลักษณะเป็นน้ำพุ ให้ใช้กรวยโรยไข่แดงลงไป ให้เป็นวงกลม โดยหากโรยสูงจะได้ฝอยทองเส้นเล็ก แต่หากโรยแบบต่ำจะได้ฝอยทองเส้นใหญ่ ให้โรยวนไปเรื่อยๆ ซ้ำทางเดิมประมาณ 20 รอบ
  4. จากนั้นให้ใช้ไม้ปลายแหลมเกี่ยวเส้นไข่ที่สุกแล้วไปนำไปวนในน้ำเชื่อม พร้อมกับนำเส้นฝอยทองมาพักบนตระแกรงให้สะเด็ดน้ำเชื่อมออก 
  5. นำฝอยทองที่ได้มาม้วนให้เป็นก้อนพอดีคำ พร้อมจัดเสิร์ฟ

8. เปียกปูนใบเตย

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 8 เปียกปูนใบเตย

“ขนมเปียกปูนใบเตย” หนึ่งในเมนูขนมหวานไทยที่มีรสสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น เพราะด้วยตัวแป้งที่เหนียวนุ่ม เมื่อเคี้ยวจะให้สัมผัสที่แปลกใหม่ไม่เหมือนขนมไทยชนิดอื่นๆ มาพร้อมกับรสชาติหวานมันจากกะทิ และหอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นของใบเตยที่ช่วยเพิ่มความน่ารับประทานให้เปียกปูนใบเตยมากขึ้นไปอีก ถ้าถามถึงระดับความยากง่ายในการทำเองที่บ้าน เชื่อว่าขนมเปียกปูนใบเตยจะต้องเป็นหนึ่งในขนมหวานไทยที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองที่บ้านแน่นอน 

วิธีทำขนมเปียกปูนใบเตย

ส่วนผสมขนมเปียกปูน สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่

  1. แป้งข้าวเจ้า 240 กรัม
  2. แป้งมันสำปะหลัง 60 กรัม
  3. น้ำปูนใส 600 มิลลิลิตร
  4. น้ำใบเตยคั้น 480 มิลลิลิตร
  5. น้ำตาลมะพร้าว 120 กรัม
  6. น้ำตาลทรายขาว 60 กรัม
  7. เกลือ ¼ ช้อนชา
  8. กะทิ 500 มิลลิลิตร
  9. แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนชา
  10. งาขาวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ

ขั้นตอนการทำขนมเปียกปูน

  1. นำแป้งข้าวเจ้า และแป้งมันร่อนผสมกัน แล้วจึงใส่น้ำปูนใสลงไปผสมกับแป้ง
  2. หลังจากนั้นใส่น้ำใบเตยปริมาณ 220 มิลลิลิตร น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลทราย กะทิ และเกลือตามลงไป คนจนน้ำตาลละลายดี
  3. นำส่วนผสมที่ได้กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้แป้งที่เนียนละเอียด
  4. นำส่วนผสมใส่ในกะทะ แล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อน แล้วจึงเคี่ยวไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้แป้งติดกะทะ และจับตัวกันเป็นก้อน เมื่อรู้สึกว่าแป้งเริ่มเหนียวหนืดขึ้น และแป้งเริ่มมีสีเงามันวาว ให้ปิดเตา
  5. นำแป้งที่ได้เทใส่แม่พิมพ์ที่ทาน้ำมันไว้แล้วเพื่อไม่ให้แป้งติดพิมพ์ เกลี่ยให้หน้าแป้งสวยเนียนเท่ากัน แล้วจึงพักทิ้งไว้รอให้ขนมเปียกปูนเซ็ตตัว 
  6. เมื่อขนมเปียกปูนเซ็ตตัวเย็นลงแล้ว ก่อนนำเสิร์ฟให้โรยด้วยงาขาวคั่ว พร้อมรับประทาน

9. ขนมน้ำดอกไม้

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 9 ขนมน้ำดอกไม้

เมนูขนมหวานไทย “ขนมน้ำดอกไม้” ที่แค่เห็นชื่อก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้สมชื่อขนมแล้ว! โดยนอกจากกลิ่นที่หอมหวานชวนรับประทานแล้ว ขนมน้ำดอกไม้ยังทำมาจากน้ำของดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่ให้สีสันสวยสดใสโทนพาสเทลที่น่ารักอีกด้วย 

ขนมน้ำดอกไม้นั้นทำได้ง่ายกว่าที่คิด เพราะจริงๆ แล้วส่วนผสมของขนมน้ำดอกไม้จะมีแค่แป้งเป็นหลัก กับน้ำลอยดอกมะลิเพิ่มกลิ่นหอมที่โดดเด่นเป็นลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นเมนูที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดเลย 

วิธีทำขนมน้ำดอกไม้

ส่วนผสมขนมน้ำดอกไม้ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่

  1. แป้งข้าวเจ้า 240 กรัม  
  2. แป้งมัน 15 กรัม 
  3. น้ำลอยดอกมะลิ หรือน้ำเปล่าใส่กลิ่นมะลิ 450 มิลลิตลิตร
  4. น้ำตาลทราย 120 กรัม 
  5. น้ำกระเจี๊ยบ 60 มิลลิตร
  6. น้ำอัญชัน 60 มิลลิตร 
  7. น้ำใบเตย 60 มิลลิตร

วิธีทำขนมน้ำดอกไม้

  1. นำแป้งข้าวเจ้า และแป้งมันร่อนผสมให้เข้ากัน 
  2. เตรียมน้ำลอยดอกมะลิ แล้วจึงใส่น้ำตาลทรายลงไป คนไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลทรายละลายหมดจนกลายเป็นน้ำเชื่อม
  3. นำน้ำเชื่อมที่ได้เทใส่ลงในแป้ง ค่อยๆ คนให้เข้ากันดี จนแป้งไม่เป็นเม็ด แล้วจึงแบ่งแป้งออกเป็น 3 ส่วนเพื่อทำเป็น 3 สี จากนั้นใส่สีจากน้ำสมุนไพรต่างๆ ทั้ง 3 สีที่เตรียมเอาไว้ลงในแป้ง (สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบ) คนให้สีกับแป้งเข้ากันดี แล้วจึงพักทิ้งไว้
  4. เตรียมนึ่ง โดยให้นำถ้วยตะไลเปล่าไปนึ่งให้ร้อนก่อนใส่แป้ง ประมาณ 5 นาที เพื่อให้แป้งไม่ติดถ้วย และเพื่อให้ตัวแป้งหน้าบุ๋ม
  5. ใส่แป้งลงในถ้วยตะไล โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที เมื่อครบเวลา หรือขนมสุกดีแล้ว ให้นำถ้วยตะไลแช่ไว้ในน้ำเย็น และเมื่อถ้วยเย็นจึงค่อยแคะขนมน้ำดอกไม้ออก พร้อมนำจัดเสิร์ฟ

10. ขนมต้ม

ขนมไทยยอดนิยมอันดับที่ 10 ขนมต้ม

“ขนมต้ม” ที่เป็นขนมหวานไทยที่มีสีสดใส ก้อนกลม ด้านในเป็นไส้มะพร้าวรสหวาน และนำไปคลุกกับคลุกกับมะพร้าวขูดอีกรอบ ทำให้มีน่าตาที่น่าทานยิ่งขึ้น มีรสหวาน กลิ่นหอม และเนื้อแน่น เต็มไปด้วยมะพร้าว โดยถือเป็นหนึ่งในขนมหวานไทยที่ทำได้ไม่ยาก ด้วยวัตถุดิบที่น้อย อีกทั้งยังทำได้เองจากที่บ้านด้วย

วิธีทำขนมต้ม

ส่วนผสมทำไส้ขนมต้มสำหรับ 4 เสิร์ฟ

  1. มะพร้าวทึนทึกขูด 300 กรัม
  2. น้ำตาลปี๊บ 200 กรัม
  3. น้ำลอยดอกมะลิ หรือน้ำเปล่า

ส่วนผสมแป้งขนมต้มสำหรับ 4 เสิร์ฟ

  1. แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม
  2. น้ำใบเตย 80 มล.

ส่วนผสมคลุกหน้าขนมต้มสำหรับ 4 เสิร์ฟ

  1. มะพร้าวขูด 100 กรัม
  2. เกลือป่น ½  ช้อนชา

ขั้นตอนการทำขนมต้ม



  1. นำน้ำลอยดอกมะลิ หรือหากไม่มีสามารถใช้น้ำเปล่าได้ขึ้นตั้งไฟกลาง แล้วจึงใส่น้ำตาลปี๊บ และมะพร้าวขูด เมื่อน้ำตาลปี๊บละลายหมดให้ใช้ไฟอ่อน และผัดไปเรื่อยๆ จนไส้เริ่มแห้งจึงปิดเตา และพักทิ้งไว้ให้ไส้เย็นลง
  2. เมื่อไส้เย็นลงแล้ว นำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณ 1 นิ้ว แล้วจึงพักทิ้งไว้
  3. นำแป้งข้าวเหนียว แล้วทยอยใส่น้ำใบเตย แล้วค่อยๆ นวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อเริ่มเข้าเนื้อให้เติมน้ำใบเตยเข้าไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นนำผ้าขาวบาง หรือพลาสติกมาคลุมแป้งและพักแป้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
  4. สำหรับการทำมะพร้าวคลุกขนม ให้นำมะพร้าวที่ขูดไว้แล้วไปนึ่งให้สุก แล้วนำมาคลุกกับเกลือ
  5. หลังจากนั้นตั้งกะทะด้วยไฟกลาง ใส่น้ำเปล่า เมื่อน้ำเดือดให้แบ่งแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วจึงแผ่แป้งออกเป็นแผ่นบางๆ ใส่ไส้ที่เราเตรียมเอาไว้ลงตรงกลาง ให้ตัวแป้งหุ้มตัวไส้ให้มิด แล้วจึงปั้นตัวแป้งที่มีไส้แล้วเป็นก้อนกลมอีกครั้ง
  6. ใส่แป้งลงไปในกะทะที่น้ำเดือด รอจนตัวแป้งลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วจึงช้อนขึ้นมาสะเด็ดน้ำออกจากแป้ง แล้วจึงนำแป้งที่ได้ไปคลุกกับมะพร้าวขูดผสมเกลือที่เตรียมเอาไว้ 
  7. ทำต่อแบบนี้จนครบทุกลูก ขนมต้มไส้มะพร้าวก็พร้อมกับนำเสิร์ฟได้เลย

สรุปท้ายบทความ

นี่คือ 10 เมนูขนมหวานไทยยอดนิยมที่มีรสชาติอร่อยถูกปากคนไทย ทั้งความหวาน มัน เค็ม ละมุน ที่กลมกล่อม รวมถึงการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านแบบไทยๆ มาประยุกต์ให้เป็นขนมหวานอีกด้วย

ใครที่อยากลองทำขนมไทยเองที่บ้านแบบง่ายๆ ลองเลือกหยิบเมนูที่คุณสนใจหรือชื่นชอบ ไปลองทำตามกันได้เลยค่ะ สำหรับมือใหม่ในบางเมนูอาจจะดูยุ่งยากไปสักหน่อย แต่ถ้าลองทำด้วยความตั้งใจและใส่ใจ รับรองว่าทำออกมาได้หน้าตาสวยงามรสชาติอร่อยแน่นอน

ebook-banner-1