กะทิ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการทำอาหารที่ได้มาจากมะพร้าว มีรสชาติเค็ม มัน และหอมกรุ่น เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในการทำขนมหวานแล้ว รสชาติและความหอมมันของกะทิ ก็ยิ่งช่วยชูรสชาติให้ขนมหวานเมนูนั้น ให้มีครบทุกรสชาติอร่อย พร้อมความกลมกล่อมแบบลงตัวที่สุด
มาดู 10 เมนูของหวานที่มีส่วนผสมของกะทิ ที่ให้รสชาติหอม หวาน มัน เค็ม ได้ในคำเดียว พร้อมส่วนผสมและวิธีทำที่นำไปทำตามได้เลย
10 เมนูของหวานที่มีส่วนผสมของกะทิ พร้อมวิธีทำ
1. กล้วยบวชชี
หนึ่งในเมนูของหวานคู่ครัวของคนไทยอย่าง “กล้วยบวชชี” เป็นของหวานกะทิที่มีทั้งความมันจากน้ำกะทิ มีความเค็มนิดๆ และมีความเปรี้ยวเล็กน้อยของกล้วยน้ำว้า
ส่วนผสมกล้วยบวชชี สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- กล้วยน้ำว้า 8 ลูก (ให้ใช้กล้วยที่ไม่สุกมาก มีความห่ามๆ กำลังทาน)
- หัวกะทิ 250 มิลลิลิตร
- หางกะทิ 300 มิลลิลิตร
- ใบเตย 2-3 ใบ
- น้ำตาลปี๊บ 40 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 30 กรัม
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
วิธีทำกล้วยบวชชี
- นำกล้วยน้ำว้า 8 ลูก ที่เตรียมเอาไว้ไปนึ่งในน้ำเดือด จนกระทั่งผิวของกล้วยเริ่มแตก ใช้เวลาประมาณ 5 นาที จึงปิดไฟ แล้วนำกล้วยออกมาปอกเปลือก หั่นออกเป็นชิ้นพอดีคำ
- กล้วยบวชชีของเราเป็นของหวานกะทิที่ใช้กะทิทั้ง 2 ส่วน คือ หัวกะทิ และหางกะทิ ให้นำหางกะทิไปต้มในหม้อก่อน แล้วจึงใส่ใบเตยลงไป ขยำๆ ก่อนเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
- เมื่อหางกะทิเริ่มเดือดให้ใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทรายขาว และเกลือตามลงไป ในขั้นตอนนี้สามารถปรับเพิ่ม หรือลดน้ำตาล และเกลือได้ตามใจชอบ
- เมื่อน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย และเกลือละลายดีแล้วให้ใส่กล้วยที่หั่นไว้ลงไป
- เมื่อน้ำหางกะทิเริ่มเดือด ให้ใส่หัวกะทิลงไปผสมกัน คนเบาๆ เพียงนิดเดียวเท่านั้น เพราะจะทำให้กล้วยเละได้ และพักทิ้งไว้ให้น้ำกะทิเดือด
- ปิดไฟ ยกลงจากเตา พร้อมนำเสิร์ฟได้เลยกับเมนูกล้วยบวชชี ของหวานที่มีส่วนผสมของกะทิ ที่ใครทานก็ต้องติดใจ
2. บัวลอยไข่หวาน
บัวลอยไข่หวานขนมไทย แป้งลูกกลมๆ สีสันสวยน่ารับประทาน ทานคู่กับน้ำกะทิหวานมันเค็ม ให้รสชาติกลมกล่อม และมีเนื้อแป้งที่เหนียวหนึบเล็กน้อยเคี้ยวเพลิน เป็นเมนูของหวานกะทิที่ใครได้ทานก็ต้องหลงรัก
ส่วนผสมบัวลอยไข่หวาน สำหรับเสิร์ฟ 10 ที่
- แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 240 กรัม
- หัวกะทิ 700 กรัม
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- สีผสมอาหารตามใจชอบ
- ไข่ไก่
- น้ำเปล่า (สำหรับใส่ผสมแป้ง และต้มตัวแป้งบัวลอย)
- น้ำเย็น (สำหรับพักแป้งบัวลอยหลังต้ม)
วิธีทำบัวลอยไข่หวาน
- นำแป้งข้าวเหนียวใส่ลงในชามผสม ใส่น้ำเปล่าเติมลงไป นวดจนแป้งจับตัวเป็นก้อนเดียวกัน แล้วจึงแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามต้องการ ตามสีผสมอาหารที่ต้องการจะใส่
- เมื่อแบ่งแป้งเรียบร้อยแล้ว ให้หยดสีผสมอาหารลงไป ประมาณ 1 หยด หรือดูตามจำนวนแป้งที่แบ่งออกมา (ไม่ควรใส่สีผสมอาหารมากเกินไป เพราะจะทำให้บัวลอยมีสดเกิน ดูไม่น่ารับประทาน)
- นำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ พร้อมนำน้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟ
- เมื่อน้ำเดือดให้นำแป้งลงไปต้ม เมื่อแป้งสุก และลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ให้ตักแป้งขึ้นมาใส่ชามที่มีน้ำพักไว้
- นำหัวกะทิ 700 กรัม เตรียมใส่หม้อ เติมน้ำเปล่าลงไปเล็กน้อยอัตราส่วนประมาณกะทิ 3 ส่วน และน้ำเปล่า 1 ส่วนแล้วจึงนำขึ้นตั้งไฟอ่อน
- เติมน้ำตาลปี๊บลงไปสามารถปรับลดความหวานได้ตามใจชอบ หลังจากนั้นจึงใส่เกลือ แล้วจึงเคี่ยวด้วยไฟอ่อนเรื่อยๆ จนกะทิเดือด จากนั้นจึงตอกไข่หวานตามลงไป ต้มจนไข่สุกลอย แล้วจึงปิดไฟยกลงจากเตา
- ตักแป้งบัวลอย ราดด้วยน้ำกะทิหวานมัน แล้วจึงตักไข่หวานลงไป พร้อมนำเสิร์ฟ
3. ทับทิมกรอบน้ำกะทิ
เมนูของหวานน้ำกะทิที่ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี ทานคู่กับน้ำแข็งเย็นๆ ก็ยิ่งเพิ่มความหวานอร่อยชื่นใจ ตัดกับรสสัมผัสของแป้งทับทิมกรอบ ใส่ไส้แห้วที่กรุบกรอบ ก็ยิ่งสร้างความเพลิดเพลินให้กับเมนูนี้เป็นอย่างดีเลย
ส่วนผสมทับทิมกรอบน้ำกะทิ สำหรับเสิร์ฟ 10 ที่
- แห้ว 500 กรัม
- แป้งมัน 500 กรัม
- สีผสมอาหาร (สีแดง หรือสีอื่นตามใจชอบ)
- หัวกะทิ 500 มิลลิลิตร
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
- น้ำตาลทรายขาว 100 กรัม
วิธีทำทับทิมกรอบน้ำกะทิ
- นำแห้วมาหั่นเป็นขนาดสี่เหลี่ยมเล็กๆ คล้ายกับลูกเต๋า แล้วจึงนำไปล้างน้ำสะอาด
- หลังจากนั้นนำแห้วไปแช่ในสีผสมอาหารประมาณ 15 นาที เพื่อให้สีผสมอาหารติดอยู่ที่แห้ว
- เมื่อครบเวลา และสีเริ่มติดแล้ว ให้นำแห้วไปล้างน้ำออก ประมาณ 2 รอบ
- นำแห้วที่ได้มาคลุกกับแป้งมัน โดยต้องให้แป้งมันเคลือบที่ตัวแห้วทั้วหมด เมื่อครบแล้วจึงนำแห้วมาร่อนแป้งส่วนที่เกินออก
- นำน้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟ เมื่อน้ำเดือดแล้วให้ค่อยๆ ทยอยใส่แป้งแห้วลงไป พร้อมคนให้แป้งแตกตัวออกจากกัน เพื่อไม่ให้ตัวแป้งติดกันเป็นก้อน
- เมื่อแป้งแห้วเริ่มลอยขึ้นบนผิวน้ำ ให้ตักนำขึ้นพักไว้ที่น้ำเย็นอุณหภูมิห้อง
- มาเริ่มทำน้ำกะทิ โดยนำกะทิใส่ลงในหม้อขึ้นตั้งไฟอ่อน แล้วจึงใส่น้ำตาลทราย เกลือ สามารถปรับลดหรือเพิ่มความหวาน และเค็มได้ตามใจชอบ จากนั้นต้มต่อไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลทราย เกลือละลาย และจนน้ำกะทิเริ่มเดือดจึงปิดไฟยกลงจากเตา
- ตักทับทิมกรอบ ใส่ลงในถ้วย ราดน้ำกะทิ แล้วเสิร์ฟได้เลย และเพื่อเพิ่มความอร่อยยิ่งขึ้น แนะนำให้เติมน้ำแข็งลงไป ก็จะช่วยให้เมนูนี้มีความหวานมันชื่นใจยิ่งขึ้น
4. ฟักทองแกงบวด
เมนูของหวานของไทย มักนำผักผลไม้มาประยุกต์ให้กลายเป็นความอร่อยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฟักทองแกงบวดเอง ก็เป็นขนมไทยยอดฮิตที่จะได้ทั้งความหวานอร่อยจากเนื้อฟักทอง พร้อมที่วิตามินและแร่ธาตุมากมาย
ส่วนผสมฟักทองแกงบวด สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- ฟักทองหั่นชิ้น 500 กรัม (ปอกเปลือก และคว้านเอาไส้ออกเรียบร้อยแล้ว)
- ปูนใส 500 มิลลิลิตร
- หัวกะทิ 200 มิลลิลิตร
- หางกะทิ 220 มิลลิลิตร
- ใบเตย 3 ใบ
- น้ำตาลมะพร้าว 100 กรัม
- เกลือ ¼ ช้อนชา
วิธีทำฟักทองแกงบวด
- เตรียมฟักทองให้พร้อมใช้งาน โดยการนำฟักทองที่หั่นชิ้นพอดีคำแล้วเรียบร้อย ไปผสมกับปูนใสเพื่อไม่ให้ฟักทองเปื่อย และเละเมื่อนำมาต้ม โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วจึงนำฟักทองไปล้างด้วยน้ำสะอาดประมาณ 2 รอบ
- เตรียมหัวกะทิเทใส่ลงในหม้อ แล้วขึ้นตั้งไฟ พร้อมกับใส่ใบเตยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้น้ำกะทิ เมื่อน้ำกะทิเดือดอ่อนๆ จึงใส่น้ำตาลมะพร้าว เกลือ (ปรับลดความหวาน เค็มได้ตามใจชอบ)
- เมื่อกะทิเดือดจึงใส่ฟักทองตามลงไป
- รอจนน้ำกะทิเดือดอีกรอบ แล้วจึงใส่หางกะทิตามลงไป ต้มด้วยไฟอ่อนๆ เมื่อเดือดจึงยกลงจากเตาได้
- ฟักทองแกงบวดพร้อมเสิร์ฟแล้ว (เพื่อเพิ่มรสชาติที่อร่อยยิ่งขึ้น ควรทางฟักทองแกงบวดตอนที่ยังอุ่นๆ หรือนำไปอุ่นก่อนเสิร์ฟทุกครั้ง เพราะฟักทองจะยิ่งนิ่มอร่อย)
5. ครองแครงน้ำกะทิ
นอกจากบัวลอยไข่หวานแล้ว ครองแครงยังเป็นของหวานกะทิที่มีเนื้อหนึบหนับจากตัวแป้งที่นำไปปั้นก้อน และมีความหวานมันละมุนของกะทิ เมื่อโรยงาลงไปก่อนรับประทาน ก็ยิ่งเพิ่มกลิ่นหอมน่าทานยิ่งขึ้น
ส่วนผสมครองแครงน้ำกะทิ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- แป้งมัน 500 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 80 กรัม
- น้ำเปล่า 350 มิลลิลิตร (สำหรับต้มแป้งครองแครง)
- กะทิ 1,000 มิลลิลิตร
- ใบเตย 3 ใบ
- น้ำตาลทราย 120 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา
- งาขาวคั่ว
วิธีทำครองแครงน้ำกะทิ
- นำแป้งมัน และแป้งข้าวเจ้ามาผสมให้เข้ากัน แล้วจึงใส่น้ำเปล่าลงไปผสม แล้วนวดให้แป้งเข้ากัน
- เมื่อแป้งได้ที่ ให้นำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วนำไปคลึงให้แบน โดยอาจจะใช้หวี หรือใช้ไม้จิ้มฟันมาขีดให้เป็นซี่ๆ หรือหากใครมีแม่พิมพ์ครองแครงสามารถนำมาใช้ได้เลย
- นำน้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟเดือด แล้วจึงค่อยๆ ทยอยใส่แป้งครองแครงลงไปต้ม พยายามคนให้แป้งแยกออกจากกัน แป้งจะได้ไม่จับตัวเป็นก้อน แล้วรอจนแป้งสุก เมื่อแป้งลอยขึ้นมาบนน้ำ ให้ตักขึ้นมาพักทิ้งไว้ด้วยน้ำเย็นเพื่อไม่ให้แป้งจับก้อนกัน
- นำกะทิขึ้นตั้งหม้อด้วยไฟกลาง แล้วจึงใส่ใบเตยลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ตามด้วยน้ำตาลทราย และเกลือ คนเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้กะทิไหม้ก้นหม้อ เมื่อเดือดอีกครั้งจึงปิดไฟได้
- ตักครองแครงที่ต้มไว้ตักใส่ถ้วยเสิร์ฟ ราดด้วยน้ำกะทิ และโรยหน้าด้วยงาขาวคั่ว พร้อมนำเสิร์ฟครองแครงกะทิสดได้
6. ขนมเปียกปูนกะทิสด
อีกหนึ่งเมนูของหวานกะทิที่โดดเด่นด้วยเนื้อแป้งหนึบนุ่มอร่อย ยิ่งราดด้วยน้ำกะทิที่มีรสชาติเค็ม มัน หอมกรุ่นกลิ่นใบเตย ก็ยิ่งทำให้ขนมเปียกปูนกะทิสดกลายเป็นเมนูของหวานที่อร่อยถูกปากแน่นอน
ส่วนผสมขนมเปียกปูนกะทิสด สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- แป้งข้าวเจ้า 240 กรัม
- แป้งมันสำปะหลัง 60 กรัม
- น้ำใบเตยคั้น 480 มิลลิลิตร
- น้ำตาลมะพร้าว 120 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 60 กรัม
- เกลือ ¼ ช้อนชา
- กะทิ 500 มิลลิลิตร
- แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนชา
- งาขาวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำขนมเปียกปูนกะทิสด
- นำแป้งข้าวเจ้า และแป้งมันผสมรวมกันในชามผสม แล้วจึงเทน้ำใบเตยเข้มข้นที่คั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วลงไปผสม โดยเทแค่เพียงครั้งเดียว หรือประมาณ 220 มิลลิลิตร คนให้น้ำใบเตยเข้ากันกับแป้ง
- เมื่อแป้งเริ่มได้ที่ให้เติมน้ำใบเตยที่เหลือลงไป แล้วตามด้วยน้ำปูนใส น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลทรายลงไปผสมทั้งหมดให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียว
- นำแป้งที่ได้เตรียมขึ้นตั้งไฟอ่อน โดยใส่กะทิลงไป แล้วจึงเคี่ยวไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้แป้งติดกะทะ และจับตัวกันเป็นก้อน เมื่อรู้สึกว่าแป้งเริ่มเหนียวหนืดขึ้น และแป้งเริ่มมีสีเงาใส ให้ปิดเตา และพักทิ้งไว้จนแป้งเย็นตัวลง
- เริ่มทำน้ำกะทิสำหรับราดหน้าขนมเปียกปูนด้วยการใส่กะทิ ใส่แป้งข้าวเจ้า และเกลือป่นผสมกัน คนจนแป้งไม่จับตัวเป็นเม็ด แล้วจึงนำกะทิขึ้นตั้งไฟอ่อน ต้มจนเดือดแล้วปิดไฟ
- ตักแป้งขนมเปียกปูนใส่ภาชนะเสิร์ฟ พร้อมราดหน้าด้วยน้ำกะทิ และโรยจบท้ายด้วยงาขาวคั่ว พร้อมรับประทาน
7. ลอดช่องน้ำกะทิ
ลอดช่องน้ำกะทิเมนูของหวานกะทิที่รสชาติอร่อย ด้วยตัวลอดช่องเนื้อหนึบเคี้ยวเพลิน ทานพร้อมไปกับน้ำกะทิรสชาติหวาน มัน หอม หากใส่น้ำแข็งลงไปด้วย ก็ยิ่งทำให้ของหวานเมนูนี้อร่อยสดชื่นขึ้นได้อีก
ส่วนผสมลอดช่องน้ำกะทิ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- แป้งข้าวเจ้า 120 กรัม
- แป้งมันสำปะหลัง 120 กรัม
- แป้งท้าวยายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปูนใส 600 มิลลิลิตร
- ใบเตยหั่นชิ้น 450 กรัม
- น้ำกะทิ 250 มิลลิลิตร
- น้ำตาลปี๊บ 150 กรัม
- เกลือ ¼ ช้อนชา
- เครื่องลอดช่องอื่นๆ ตามใจชอบ เช่น ข้าวโพด เผือก ขนมปัง เฉาก๊วย
วิธีทำลอดช่องน้ำกะทิ
- นำน้ำกะทิเทใส่หม้อขึ้นตั้งไฟกลาง เมื่อเริ่มเดือดให้ใส่น้ำตาลปี๊บ เกลือ คนให้เข้ากันจนน้ำตาลปี๊บละลายดีแล้วเคี่ยวต่อเรื่อยๆ สักพักแล้วปิดไฟ
- นำใบเตยใส่โถปั่น พร้อมกับน้ำปูนใส ปั่นจนใบเตยเล็กละเอียด แล้วจึงพักทิ้งไว้
- กรองใบเตยให้เหลือแค่น้ำใบเตยเท่านั้น
- นำแป้งทั้งหมดใส่ลงในชามผสม ผสมทั้งหมดให้เข้ากัน แล้วใส่น้ำใบเตย มาผสมให้เข้ากัน
- นำแป้งที่ใส่น้ำใบเตยแล้วขึ้นตั้งไฟอ่อน แล้วเคี่ยวสม่ำเสมอ จนแป้งเริ่มเหนียว และเริ่มสุกจึงปิดไฟ
- นำแป้งเทใส่แม่พิมพ์ทำลอดช่อง แล้วจึงหยอดแป้งเป็นช่วงๆ ให้เป็นเส้นสายแบบลอดช่อง โดยหยอดลงในน้ำเย็นจัด เพื่อให้แป้งจับตัว และไม่ติดกันเป็นก้อน
- นำแป้งลอดช่องตักใส่ถ้วย ราดน้ำกะทิ ใส่เครื่องเพิ่มตามต้องการ เสิร์ฟพร้อมน้ำแข็งเพิ่มความอร่อยสดชื่น
8. ขนมถ้วยใบเตย
เมนูของหวานกะทิยอดนิยมที่มีรสชาติครบรสทั้งหวาน มัน เค็มที่ได้จากตัวกะทิและใบเตย พร้อมเนื้อสัมผัสที่เหนียวนุ่ม ทานแค่ถ้วยเดียวยังไงก็ไม่พอ!
ส่วนผสมขนมถ้วย : ตัวใบเตย
- หางกะทิ 350 มิลลิลิตร
- น้ำตาลทราย 60 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 80 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 60 กรัม
- แป้งเท้ายายม่อม 30 กรัม
- ใบเตย 5 ใบ
ส่วนผสมขนมถ้วย : กะทิ
- หัวกะทิ 250 กรัม
- เกลือ ½ ช้อนชา
- แป้งข้าวเจ้า 40 กรัม
วิธีทำขนมถ้วย
- เริ่มทำตัวขนมถ้วยใบเตยด้วยการนำใบเตย และหางกะทิมาผสมกัน และนำไปปั่นจนได้เนื้อใบเตยละเอียด แล้วนำมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอาแต่น้ำใบเตย
- นำแป้งข้าวเจ้า และแป้งเท้ายายม่อมใส่ลงในชามผสมเข้าด้วยกัน แล้วจึงใส่น้ำตาลทราย และน้ำตาลปี๊บตามลงไป จากนั้นค่อยๆ เทน้ำใบเตยกะทิตามลงไป พร้อมขยำให้ส่วนผสมทั้งหมดละลายไปด้วยกัน แล้วนำไปกรองเพื่อให้ได้เนื้อส่วนผสมที่เนียน และมั่นใจได้ว่าน้ำตาลของเราละลายหมด
- เริ่มทำหน้ากะทิด้วยการนำหัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า และเกลือใส่รวมกันในชามผสม แล้วจึงตะล่อมส่วนผสมให้ทั้งหมดเข้ากัน
- ระหว่างนี้ในนำถ้วยตะไลเปล่าไปนึ่งเตรียมความร้อนก่อนด้วยไฟกลาง ประมาณ 5-10 นาที
- เมื่อถ้วยตะไลร้อนได้ที่แล้วให้ปรับเป็นไฟอ่อน แล้วจึงหยอดตัวขนมถ้วยน้ำใบเตยลงไปเป็นฐาน แล้วจึงปิดฝานึ่งประมาณ 15 นาทีด้วยไฟแรง
- เมื่อตัวขนมถ้วยน้ำใบเตยเริ่มสุกได้ที่แล้ว ให้หยดหน้ากะทิตามลงไป แล้วจึงปิดฝานึ่งต่ออีกประมาณ 15 นาที
- พร้อมนำเสิร์ฟได้เรียบร้อยกับขนมถ้วยใบเตยที่หอมหวานมันอร่อย
9. สาคูน้ำกะทิ
ของหวานราดด้วยน้ำกะทิไทยสุดแสนอร่อย แน่นอนว่าจะต้องมีสาคูน้ำกะทิติดลิสต์ขนมโปรดในใจใครหลายคน เพราะด้วยความหนึบของเมล็ดสาคูที่ตักทานไปพร้อมกับน้ำกะทิ มีรสชาติที่หวานหอม มันอร่อย ทานได้ไม่มีเบื่อแน่นอน
ส่วนผสมสาคูน้ำกะทิ สำหรับเสิร์ฟ 3 ที่
- เม็ดสาคูเม็ดเล็ก 250 กรัม
- กะทิ 250 มิลลิลิตร
- น้ำเปล่า 500 มิลลิลิตร
- น้ำตาลทราย 120 กรัม
- เกลือ ¼ ช้อนชา
วิธีทำสาคูน้ำกะทิ
- นำเม็ดสาคูไปล้างในน้ำสะอาด
- นำน้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟกลางรอจนเดือดจึงใส่เม็ดสาคูตามลงไป ต้มเรื่อยๆ จนกว่าเม็ดสาคูจะดูใส และสุกจึงตักเม็ดสาคูขึ้นพักไว้
- เริ่มทำน้ำกะทิด้วยการนำกะทิขึ้นตั้งไฟอ่อน เติมน้ำตาลทราย ใส่เกลือป่นเล็กน้อยตามใจชอบต้มจนน้ำตาลทรายละลายหมด และน้ำเดือดจึงปิดเตา
- ตักเม็ดสาคูใส่ถ้วย ราดหน้าด้วยน้ำกะทิ พร้อมนำเสิร์ฟ
10. วุ้นใบเตยกะทิสด
วุ้นใบเตยกะทิสดเมนูของหวานที่ใช้กะทิรสชาติกลมกล่อม มีความมันเค็มมาตัดรสชาติของความหวานของตัววุ้น และยังมีเนื้อสัมผัสที่กรอบอร่อย ละมุนลิ้น หยิบมาทานตอนไหนก็มาช่วยเติมความสดชื่นได้เป็นอย่างดี
ส่วนผสมวุ้นใบเตย (สำหรับ 18 ถ้วย ขนาด 4.5 ซม. )
- น้ำใบเตยเข้มข้น 500 มิลลิลิตร
- ผงวุ้นตรานางเงือก 5 กรัม
- น้ำตาลทราย 80 กรัม
- แม่พิมพ์ หรือถ้วยพิมพ์พลาสติก (จำนวนวุ้นที่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่พิมพ์)
ส่วนผสมวุ้นกะทิ
- น้ำกะทิ 200 กรัม
- น้ำเปล่า 200 กรัม
- ผงวุ้นตรานางเงือก 5 กรัม
- น้ำตาลทราย 80 กรัม
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำวุ้นใบเตยกะทิสด
- เริ่มทำตัววุ้นใบเตยก่อนด้วยการนำผงวุ้นตรานางเงือกเทใส่ในน้ำใบเตยเข้มข้น 500 มิลลิลิตร ที่เตรียมเอาไว้ และพักทิ้งไว้ 15 นาทีให้วุ้นอิ่มน้ำ และเพื่อไม่ให้วุ้นคายน้ำภายหลัง
- เมื่อน้ำใบเตยที่ใส่วุ้นอิ่มน้ำ และเริ่มละลายดีแล้วให้นำขึ้นตั้งไฟด้วยไฟกลาง หลังจากนั้นใส่น้ำตาลทราย 80 กรัม โดยสามารถปรับลด หรือเพิ่มน้ำตาลทรายได้ตามใจชอบ และอย่าลืมเช็คให้ดีว่าผงวุ้น และน้ำตาลทรายละลายดีหมดแล้ว จึงปิดไฟ และนำลงจากเตา
- นำน้ำวุ้นใบเตยที่ได้เทใส่ลงในแม่พิมพ์ที่เตรียมเอาไว้ โดยเทใส่แค่เพียงครึ่งเดียวของแม่พิมพ์เพื่อเหลือพื้นที่ให้กับวุ้นกะทิสดด้วย แล้วจึงพักทิ้งไว้ในอุหณภูมิห้องเพื่อให้วุ้นเซ็ตตัว
- เริ่มทำตัววุ้นกะทิสดด้วยการ เทผงวุ้นลงน้ำเปล่าที่ผสมกับน้ำกะทิสดแล้ว และจึงพักทิ้งไว้ 15 นาทีเพื่อให้ผงวุ้นอิ่มน้ำ
- จากนั้นนำน้ำกะทิขึ้นตั้งไฟอ่อน แล้วต้มจนเริ่มเดือดอ่อนๆ จึงใส่น้ำตาล ใส่เกลือโดยสามารถปรับลดความหวาน ความเค็มได้ตามใจชอบ คนจนส่วนผสมทั้งหมดละลายเป็นเนื้อเดียวกันจึงปิดไฟ และยกลงจากเตา
- เทวุ้นกะทิใส่บนวุ้นใบเตยที่เซ็ตตัวดีแล้วในถาด โดยใส่ให้เต็มอีกครึ่งหนึ่งของพิมพ์ และพักทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง หรือนำไปแช่ตู้เย็นเพื่อให้วุ้นเซ็ตตัว
- เมื่อวุ้นเซ็ตตัวดีแล้วให้นำวุ้นออกมาตัดแบ่งเป็นชิ้นพอดีคำ เตรียมนำจัดเสิร์ฟ
สรุปท้ายบทความ
และนี่คือ 10 เมนูของหวานกะทิ เมนูของหวานของไทยที่หยิบมาทานเมื่อไหร่ก็อร่อย! เพราะของหวานมันของกะทิมักจะมีรสชาติที่กลมกล่อมครบรสชาติทั้งหวาน มัน เค็มอร่อยลงตัว ไม่ว่าจะนำมาทำเมนูคาวหรือหวาน ก็ช่วยทำให้รสชาติหอม มัน อร่อย กลมกล่อมมากขึ้นแน่นอนค่ะ