อาหารมื้อไหนๆ คนไทยก็ให้ความสำคัญ ทั้งอาหารมื้อหลักเอง หรือของว่าง ที่เรามักจะนิยมทานเล่นระหว่างดูโทรทัศน์ ช่วงเวลาพบปะพูดคุยของครอบครัว หรือระหว่างรอทานอาหารมื้อหลัก ซึ่งอย่างที่เรารู้กันดีว่าในประเทศอื่นๆ ก็จะมีของว่างตามสไตล์ประเทศของตนเอง เช่น แซนวิช หรือติ่มซำ และคนไทยเองก็มีเมนูของว่างไทยที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณที่น่าทานไม่แพ้ประเทศอื่นเลยค่ะ
เมื่อขึ้นชื่อว่าของว่างไทยโบราณ หลายคนได้ยินก็คงรู้สึกว่าคงจะทำยาก ยุ่งยาก และใช้เวลา แต่จะบอกเลยว่ามีหลายๆ เมนูที่ทำได้ง่าย และคุ้มค่าในการลองทำแน่นอน บทความนี้เราจึงคัด 10 ของว่างไทยโบราณ ทั้งเมนูคาว และเมนูหวาน ที่ทำได้ง่าย เสียเวลาไม่มาก แต่รับรองว่าได้ครบทุกความอร่อยในช่วงเวลาว่างของเราแน่นอน
เมนูของคาว
เริ่มต้นด้วยเมนูของว่างไทยโบราณที่เป็นของคาวกันก่อน เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคุ้นตากับบางเมนูหรือเคยทานมาบ้างแล้ว แต่บางเมนูอาจจะยังไม่รู้จักมาก่อน บางเมนูนั้นสามารถทำตามได้ง่ายๆ แต่ขอแนะนำให้ลองหาร้านต้นฉบับทานดูก่อน เพื่อจะได้ลิ้มลองรสชาติที่ถูกต้อง แล้วลองนำกลับมาทำเองที่บ้าน
1. หมูโสร่ง
หมูโสร่ง หรือหมูสร่ง เป็นหนึ่งในของว่างไทยโบราณที่หลายคนอาจจะเพิ่งรู้จักได้ไม่นาน ลักษณะของหมูโสร่งจะเป็นหมูสับที่นำมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วพันด้วยเส้นของหมี่ซั่วที่ถูกนำไปทอดกรอบ ความอร่อยคือจะมีรสชาติและกลิ่นที่หอมของเครื่องเทศแบบไทย ที่มีทั้งสามเกลออย่าง
- รากผักชีที่จะเพิ่มรสชาติให้อร่อย
- กระเทียมที่จะช่วยดับกลิ่นของหมู
- พริกไทยที่มาพร้อมความเผ็ดร้อน
ทำให้หมูโสร่งมีรสชาติจัดจ้าน เป็นรสชาติของว่างไทยโบราณขนานแท้ ด้วยวิธีการทำจริงๆ แล้วไม่ยาก สามารถทำได้ง่ายมาก แต่อาจจะต้องใช้ความละเอียด ความพิถีพิถันทั้งขั้นตอนการปรุงรสด้วยเครื่องเทศ การพันหมี่ซั่วบนก้อนหมูสับ รวมไปถึงระยะเวลาในการทอดที่หมูสุกพอดี และเส้นหมี่ซั่วเหลืองทองกรอบกำลังดี
2. ช่อม่วง
ช่อม่วงเป็นของว่างไทยโบราณที่มีหน้าตาสวยงาม มีรูปทรงเป็นดอกไม้ที่ถูกประดิดประดอยอย่างพิถิพิถัน ส่วนสีม่วงจะมาจากน้ำดอกอัญชัน และสอดไส้คาวด้วยหมูสามชั้น ทำให้แม้ดูภายนอกช่อม่วงจะเป็นของว่างไทยโบราณที่ดูเหมือนของหวาน แต่จริงๆ แล้วเป็นอาหารคาวที่มีขั้นตอนการทำทั้งแป้ง และไส้หมู พร้อมกับความใส่ใจในการจับจีบของช่อม่วงที่ต้องละเอียด
3. เมี่ยงคำ
เมี่ยงคำ หรือเมี่ยงคำกลีบบัว ที่ให้รสชาติแตกต่างจากเมี่ยงคำใบชะพลูทั่วไป เพราะด้วยรสชาติ และรสสัมผัสแปลกใหม่ของกลับบัว และยังได้ความอร่อยครบทุกรสชาติจากเครื่องเคียงที่มีหลายอย่าง แถมยังทานแล้วสุขภาพดีเพราะเครื่องเคียงมาจากผักสดๆ
และยังทำได้ง่ายมาก ใช้เวลาทำไม่นาน แต่ยังได้ความเพลิดเพลินระหว่างทาน เพราะสามารถเลือกตักเครื่องเคียงได้เองด้วยตามใจชอบ ก่อนจะราดด้วยน้ำจิ้มเมี่ยงคำที่ปรุงรสชาติทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ดอย่างลงตัว
4. ขนมจีบนก
ไม่ใช่แค่ขนมจีบเหมือนทั่วๆ ไป แต่นี่คือขนมจีบที่มีการจับจีบให้หน้าตาคล้ายกับตัวนก ถือว่าเป็นของว่างไทยโบราณที่หาทานได้ยากเลยทีเดียว เพราะสมัยนี่หลายคนอาจจะคุ้นชิ้นกับขนมจีบกุ้ง ขนมจีบปูหน้าตาทั่วไป โดยขนมจีบนกตามปกติจะสามารถปรับเปลี่ยนไส้ด้านในได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นไส้กุ้งสับ หรือเนื้อปูก็ตาม ซึ่งเมื่อเป็นขนมจีบนกแล้ว ยิ่งเพิ่มความน่ารับประทานมากขึ้นไปอีก แต่วิธีการทำไม่ยากเลยด้วยค่ะ
5. ช่อมะลิซ้อนไส้กุ้ง
อีกหนึ่งของว่างไทยโบราณที่มีหน้าตาคล้ายกับช่อม่วง เพราะด้วยวิธีการจับจีบตัวแป้ง แต่ช่อมะลิซ้อนไส้กุ้งจะมีการจับจีบแบบดอกมะลิตามชื่อ รสชาติจะมีความเหนียวนุ่มของตัวแป้ง กับรสชาติของไส้กุ้งที่ผ่านการปรุงรสชาติจากเครื่องเทศอย่างสามเกลอให้เผ็ดร้อนกลมกล่อมกำลังดี
เมนูของหวาน
ถัดมาเป็นเมนูของหวานกันบ้าง ซึ่งสำหรับขนมหวานไทยแบบโบราณนั้นมีรสชาติหวานกลมกล่อมกำลังพอดี และส่วนใหญ่มีส่วนผสมของกะทิที่ให้ความหอมมัน ทำให้ทานได้บ่อยๆ โดยจะเลือกทานในช่วงระหว่างวันหรือหลังมื้ออาหารก็ได้เช่นเดียวกัน
6. ขนมชั้น
ขนมชั้นเป็นขนมไทยที่อยู่มานานทุกยุคทุกสมัย จัดเป็นของว่างไทยโบราณประเภทของหวานที่หาทานได้ง่าย และทำเองได้ง่ายด้วยเช่นกันค่ะ ส่วนใหญ่จะนิยมทำเป็นขนมชั้นใบเตย เพราะจะให้รสชาติหอมหวานจากใบเตย และมีเนื้อสัมผัสหนึบนุ่มละมุนลิ้น หยิบทานได้เพลินๆ
ปัจจุบันเรามักจะเห็นว่ามีการปรับของว่างไทยโบราณชิ้นนี้ให้มีทั้งรูปแบบเป็นสี่เหลี่ยม หรือเป็นขนมชั้นดอกไม้ก็ยิ่งเพิ่มความน่าทานมากขึ้น ขนมชั้นเองเป็นขนมว่างไทยโบราณที่ส่วนผสมไม่เยอะ อาจจะดูมีหลายขั้นตอน แต่บอกเลยว่าทำได้ง่ายมากๆ
7. วุ้นกะทิใบเตย
หากใครอยากทานของว่างที่มีรสชาติหวานมันกรุบกรอบเพลินๆ เติมความสดชื่นระหว่างวัน วุ้นกะทิใบเตยคือของว่างไทยโบราณที่คุณควรทานค่ะ เพราะทั้งความหอมของใบเตย และความมันของกะทิที่ให้ความอร่อยละมุนลิ้นเป็นองค์ประกอบที่ลงตัว ที่จะช่วยเพิ่มความกะปรี้กระเปร่าให้เราได้เป็นอย่างดี
สำหรับ วุ้นกะทิใบเตยแบบฉบับวุ้นตรานางเงือก จะแบ่งขั้นตอนการทำออกเป็นทั้งหมด 2 ส่วนคือ
- ตัววุ้นใบเตย
- วุ้นกะทิ
ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีขั้นตอนการทำที่คล้ายกันมาก ดังนั้นใครมือใหม่หัดทำอาหารก็ทำตามได้แน่นอน
1. ทำตัววุ้นใบเตย โดยส่วนผสมมี
- ใบเตย 12 ใบ
- น้ำเปล่า 550 มล.
- น้ำตาลทราย 95 กรัม
- ผงวุ้นตรานางเงือก 5 กรัม
ขั้นตอนทำวุ้นใบเตย
- เริ่มขั้นตอนแรกด้วยการนำใบเตยหั่นชิ้นไปปั่นให้ละเอียดกับน้ำสะอาด แล้วจึงกรองเศษใบเตยออกจะจะได้น้ำใบเตยเข้มข้นพร้อมกับกลิ่นหอม
- นำผงวุ้นตรานางเงือกใส่ในน้ำเปล่าแล้วรอให้ผงวุ้นอิ่มน้ำประมาณ 15 นาที และให้ผงวุ้นละลายจนหมดเพื่อที่จะได้หน้าวุ้นที่เรียบเนียน ไม่คายน้ำภายหลัง
- หลังจากนั้นนำผงวุ้นที่ละลายแล้วขึ้นตั้งไฟ พร้อมกับใส่น้ำใบเตย แล้วจึงตามด้วยน้ำตาลทราย รอจนส่วนผสมทั้งหมดละลายเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดแล้วจึงปิดไฟ นำลงจากเตา
- เทวุ้นใบเตยที่ได้ลงในถาดพิมพ์ที่เตรียมเอาไว้ พร้อมกับพักทิ้งไว้ให้เย็นจนวุ้นเซ็ตตัว
2. ทำตัววุ้นกะทิ โดยส่วนผสมมี
- น้ำกะทิ 200 กรัม
- น้ำเปล่า 200 กรัม
- น้ำตาลทราย 95 กรัม
- ผงวุ้นตรานางเงือก 5 กรัม
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
ขั้นตอนทำวุ้นกะทิ
1. นำผงวุ้นตรานางเงือกลงไปละลายในน้ำเปล่า และพักทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที
2. หลังจากนั้นนำผงวุ้นขึ้นตั้งไฟด้วยไฟกลาง ตามด้วยเทน้ำกะทิใส่ตามลงไป
3. ใส่น้ำตาลทราย และเกลือเพื่อเพิ่มรสชาติความหวาน และความเค็ม คนไปเรื่อยๆ จนส่วนผสมทั้งหมดละลายทั้งหมด
4. เทวุ้นกะทิใส่ลงบนวุ้นใบเตยที่เซ็ตตัวแล้ว พักจนวุ้นเย็นตัวลง หลังจากนั้นก็พร้อมรับประทานเป็นของว่างได้เลยค่ะ
8. ลูกชุบ
ขนมว่างไทยโบราณขนานแท้ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ด้วยรสชาติอร่อย ทานง่าย หน้าตาน่ารับประทานจึงนิยมเป็นของว่างไทยโบราณทั้งของเด็ก และผู้ใหญ่ ทั้งความอร่อยจากถั่วกวน และความกรอบของวุ้นชุบ โดยหากทานคู่กับชายิ่งเข้ากันได้ดี เพราะจะช่วยผ่อนคลายช่วงเวลาว่างของคุณให้เพลิดเพลินได้มากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนการทำลูกชุบจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนทั้งส่วนไส้ถั่วกวน และตัววุ้น แต่จะทำให้คุณได้สนุกสนานขึ้นระหว่างทำด้วยการตกแต่งลูกชุบ ดังนั้นหากใครมีเวลาว่างอยากทำขนมเพลินๆ รับรองว่าลูกชุบเป็นตัวเลือกขนมหวานที่จะทำให้คุณสนุกได้แน่นอน
9. ขนมเปียกปูนกะทิสด
ขนมเปียกปูนหลายคนอาจจะคุ้นชิ้นกับเปียกปูนแบบชิ้นสี่เหลี่ยม แต่รู้ไหมว่ามีขนมเปียกปูนกะทิสดที่เป็นของว่างไทยโบราณอีกหนึ่งอย่างที่น่าทานมาก เพราะมีรสชาติของกะทิสดที่มาช่วยเพิ่มความเค็ม ตัดรสชาติหวานของเปียกปูนใบเตย และรสสัมผัสที่กรุบกรอบ พร้อมกลิ่นหอมจากงาที่โรยทั่วเปียกปูนกะทิสด แม้ว่าจะดูมีหลายรสชาติแบบนี้ แต่ทำไม่ยุ่งยาก อย่างที่คุณคิดแน่นอน
ส่วนผสม : ขนมเปียกปูนกะทิสด
- แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
- แป้งมัน 1/4 ถ้วยตวง
- น้ำใบเตย 2 ถ้วยตวง
- น้ำปูนใส 1 ถ้วยตวง
- เกลือ
- น้ำตาลปี๊บ 120 กรัม
- น้ำตาลทรายแดง 1 ถ้วยตวง
ขั้นตอนการทำขนมเปียกปูนกะทิสด
- นำส่วนผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำปูนใส และน้ำใบเตยมาผสมรวมกันทั้งมด พร้อมนวดจนทุกอย่างรวมเป็นเนื้อเดียวกัน
- หลังจากนั้นให้ใส่เกลือ น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลปิ๊บ แล้วจึงนวดส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอีกรอบ
- นำส่วนผสมที่ได้ไปกรองเพื่อให้ได้เนื้อที่เนียนละเอียดขึ้น
- นำขึ้นตั้งไฟด้วยไฟกลางแล้วจึงกวนส่วนผสมทั้งหมดจนเริ่มจับตัวเป็นก้อน และมีความหนืดขึ้น หลังจากนั้นค่อยลดไฟให้อ่อนลง แต่ยังกวนต่อเพื่อให้ได้ส่วนผสมที่เนื้อเนียน ถ้ารู้สึกว่าแป้งมีความเหนียวขึ้นแล้วนำลงจากเตาได้เลยค่ะ
ส่วนผสม : น้ำกะทิ
- กะทิ 500 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนชา
- เกลือ
ขั้นตอนการทำน้ำกะทิ
ผสมส่วนผสมน้ำกะทิ แป้งข้าวเจ้า และเกลือทั้งหมดเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นให้นำตัวเปียกปูนที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วเทลงใส่ถ้วย ตามด้วยราดน้ำกะทิด้านบน แล้วจึงตามด้วยงาโรยให้รอบ
เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว!! เห็นไหมคะว่าไม่ยากอย่างที่คิดเลย ทำง่าย และใช้เวลาไม่เพียงไม่นาน แต่ได้รสชาติที่อร่อยทานได้ในวันว่างๆ เลยค่ะ
10. ขนมต้ม
ขนมต้ม ขนมไทยรูปทรงกลมที่มีมะพร้าวโรยรอบชิ้น เป็นอีกหนึ่งของว่างไทยโบราณที่ในปัจจุบันยังหาทานได้ง่ายอยู่ หากใครชอบเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม และรสชาติหวานมันละมุนลิ้น และหอมกลิ่นมะพร้าว รับรองว่าคุณจะต้องชอบขนมต้มแน่นอน
ซึ่งขนมต้มจะมีส่วนผสมหลักๆ เพียงแค่มะพร้าว แป้ง และน้ำตาลปี๊บ หรือหากอยากเพิ่มสีสันให้หน้าตาน่ารับประทานมากยิ่งขึ้นก็สามารถเติมสีสันเข้าไปได้อีก
สรุปท้ายบท
และนี่คือ 10 ของว่างไทยโบราณที่จะเปลี่ยนช่วงเวลาว่างของคุณให้รู้สึกพิเศษขึ้นด้วยรสชาติอร่อย ที่หยิบทานได้เพลินๆ หากใครอยากลองทำทานเองก็บอกเลยว่าไม่ยาก เสียเวลาไม่มาก แต่ต้องอาศัยความพิถีพิถันตามแบบฉบับของอาหารไทย
หากว่าลองทำครั้งแรกแล้วอาจจะยังไม่ได้รูปร่างหรือความอร่อยที่ถูกใจนัก ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนและพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง เท่านี้ขนมไทยโบราณที่ใครเขาบอกว่าทำไม่ง่าย ก็จะเป็นงานถนัดของคุณแล้วค่ะ