ขนมไทยรสชาติดีและหน้าตาที่คุ้นเคยของคนไทย คงหนีไม่พ้น “ขนมลูกชุบ” ขนมไทยสีสันสดใส ที่นิยมนำมาปั้นเป็นรูปผัก ผลไม้ต่างๆ ไปจนถึงสัตว์นานาชนิด ที่แล้วแต่คนทำจะสร้างสรรค์ไอเดียปั้นเป็นรูปต่างๆ ทำให้กลายเป็นขนมที่เด็กๆ ทานง่าย ผู้ใหญ่ทานดี เพราะรสชาติกล่มกล่อม หวานมัน อร่อย ทานง่ายได้เพลินๆ
ขนมลูกชุบเป็นขนมไทยโบราณที่มีสัญชาติโปรตุเกส เข้าไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยในสมัยก่อนนั้นจะมีส่วนผสมหลักคืออัลมอนด์ แต่สำหรับประเทศไทยในยุคนั้นอัลมอนด์เป็นส่วนผสมที่หายาก จึงมีการนำมาปรับสูตร และกลายเป็นใช้ถั่วเขียวแทน
นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว วิธีการทำลูกชุบถือได้ว่ามือใหม่หัดทำขนมก็ทำได้ไม่ยาก เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก ใช้อุปกรณ์ไม่เยอะ
ในบทความนี้เรามาดูวิธีทำลูกชุบแบบมืออาชีพที่มือใหม่ก็ทำตามได้ ตั้งแต่การเตรียมส่วนผสม ลงมือทำ แถมด้วยเทคนิคการทำให้ลูกชุบของคุณนั้นมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มจดสูตรและวิธีการทำลูกชุบกันเลย
ขั้นตอนการทำลูกชุบ
วิธีการทำลูกชุบก่อนเริ่มทำ เตรียมอุปกรณ์ และส่วนผสมให้พร้อม ซึ่งวิธีการทำลูกชุบจะแบ่งออกทั้งหมดเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือการทำไส้ถั่วกวน และส่วนของวุ้นชุบเพื่อเพิ่มเติมสีสัน และรสชาติกรอบให้กับลูกชุบของเราให้น่าทานมากยิ่งขึ้น
ส่วนผสมสำหรับทำไส้ถั่วกวน
- ถั่วเขียวเลาะเปลือก 1+ 1/ 2 ถ้วยตวง
- น้ำตาลทราย 1 / 2 ถ้วยตวง
- กะทิ
- เกลือ 1 / 4 ช้อนชา
ส่วนผสมวุ้นสำหรับชุบ
- ผงวุ้นตรานางเงือก AA (ขอบซองสีเขียว)
- น้ำเปล่า
- น้ำตาลทราย 1 / 2 ถ้วยตวง
- สีผสมอาหาร
- กลิ่นมะลิ 1/ 2 ช้อนชา
อุปกรณ์เพิ่มเติม
- ไม้ปลายแหลม
- โฟมสำหรับปักไม้ลูกชุบ
- พู่กัน
- ของตกแต่งต่างๆแล้วแต่ไอเดีย เช่นใบแก้ว หรือใบมะยม
ขั้นตอนสำหรับทำไส้ถั่วกวน
ขั้นตอนที่ 1
วิธีการทำไส้ลูกชุบขั้นตอนแรกนำถั่วเขียวเลาะเปือกล้างทำความสะอาดในน้ำ โดยล้างจนกว่าสีของน้ำจาก
สีเหลืองอ่อน จนเปลี่ยนเป็นสีใสสะอาด ซึ่งอาจจะต้องล้างประมาณ 6-7 รอบ หลังจากนั้นจึงแช่ถั่วเขียวเลาะเปือกกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง (หรือแช่นานกว่านั้นได้หากรู้สึกว่าถั่วเขียวยังไม่นิ่มมากพอ) ให้ถั่วเขียวพองตัวอิ่มน้ำจนนิ่ม แล้วจึงนำไปล้างให้สะอาดอีกครั้ง
ขั้นตอนที่ 2
นำถั่วเขียวที่ผ่านการแช่ และทำความสะอาดแล้วใส่ในหม้อนึ่ง หรือหากใครไม่มีหม้อนึ่งสามารถใช้หม้อหุงข้าวแทนได้
แนะนำว่าสำหรับหม้อนึ่งให้รองถั่วเขียวด้วยผ้าขาวบาง เพื่อให้เมล็ดถั่วเขียวไม่ล่วงหล่นไปตามหม้อ และจะทำให้สามารถนำถั่วเขียวออกมาได้ง่ายหลังจากนึ่งเสร็จแล้ว และแนะนำให้จัดวางถั่วเขียวโดยเว้นรูตรงกลางเพื่อให้มีรูระบายอากาศออก โดยนึ่งนานประมาณ 15-20 นาทีด้วยไฟกลางจนกระทั่งถั่วเขียวสุก
ขั้นตอนที่ 3
นำถั่วเขียวนึ่งสุกที่นิ่มแล้วลงใส่ในโถปั่น หากใครไม่มีโถปั่นสามารถใช้มือขยำได้แต่แนะนำว่าจะต้องใช้ความละเอียดที่มากพอ
โดยในการปั่นอาจจะแบ่งการปั่นทีละน้อย ทำหลายๆ รอบ เพื่อเพิ่มความชัวร์ว่าถั่วกวนของเราจะละเอียดมากพอก็ได้ พร้อมกับใส่น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง ตามด้วยเกลือป่นเพิ่มความกลมกล่อมอีก 1/4 ช้อนชา หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง และจึงปั่นส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอย่างละเอียด
ขั้นตอนที่ 4
หลังจากได้ใส้ที่ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ให้เทส่วนผสมทั้งหมดลงในกะทะด้วยไฟอ่อนๆ และค่อยๆ กวนไส้เรื่อยๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งขั้นตอนนี้เองก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ไส้ถั่วกวนแห้ง และเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน และต้องไม่ติดกระทะ แนะนำว่าอย่าใช้ไฟที่ใช้แรงเกินไป เพราะจะทำให้ถั่วกวนของเราไหม้ได้ง่าย และได้เนื้อที่ไม่เนียน
เทคนิคการเช็คว่าใส้ของเราไม่แห้งเกินไป คือให้ใช้มือที่สะอาด ลองหยิบมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ เพื่อเช็ค หากปั้นแล้วได้ก้อนที่พอดี ไม่เละติดมือ แสดงว่าไส้ถั่วกวนของเราพอดีแล้ว แต่หากหยิบขึ้นมาปั้นแล้วมีความแหลกอาจจะเพราะไส้ของเราแห้งเกินไป
ขั้นตอนที่ 5
เมื่อเสร็จแล้วนำออกจากกระทะ ใช้ไม้พายยีๆ ตัวไส้ถั่วกวนเพื่อให้ไส้ระบายความร้อนได้เร็วขึ้น หรือพักทิ้งไว้ให้จนไส้ถั่วกวนเย็นลง
ขั้นตอนทำวุ้น
ขั้นตอนที่ 1
วิธีการทำลูกชุบสำหรับตัววุ้น ขั้นตอนแรกให้ใส่ผงวุ้น 2 ช้อนชา ลงแช่ในน้ำเปล่าประมาณ 10 นาที ให้วุ้นอิ่มน้ำ
(วิธีการแช่วุ้นแบบนี้ ยังสามารถใช้กับการเตรียมต้มวุ้นแบบอื่นๆ ได้ด้วย จะช่วยให้วุ้นละลายได้ง่าย และเซ็ทตัวได้ดีอีกด้วยค่ะ)
ขั้นตอนที่ 2
เติมน้ำเปล่าประมาณ 2 ถ้วยตวง ลงในหม้อต้มน้ำ ตามด้วยผงวุ้นที่เราแช่น้ำเปล่าทิ้งเอาไว้ประมาณ 1 ถ้วยตวง และใส่น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวงตามลงไป ใครที่อยากให้ขนมลูกชุบมีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น สามารถใส่กลิ่นผสมอาหารกลิ่นมะลิ ลงไปในขั้นตอนนี้ค่ะ
ขั้นตอนที่ 3
เคี่ยวส่วนผสมให้เข้ากันด้วยไฟกลาง ประมาณ 15 นาที เพื่อให้วุ้นจมลงไป และคนเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้วุ้นจับตัวเป็นก้อน จนกระทั่งน้ำเดือดจึงคนต่ออีกประมาณ 2-3 นาที จากนั้นค่อยปิดไฟ พร้อมสังเกตให้ดีว่าผงวุ้นละลายดีหรือไม่ หลังจากนั้นจึงค่อยยกลงใส่ภาชนะ และพักวุ้นทิ้งไว้สักประมาณ 5 นาที เพื่อให้วุ้นเซ็ตตัว
มาเริ่มปั้นลูกชุบกันได้เลย
- หลังจากไส้ถั่วกวนพักไว้จนเย็นแล้ว ล้างมือให้สะอาดก่อน แล้วจึงนำไส้มานวดด้วยมือของเราอีกครั้ง โดยแนะนำให้ใช้น้ำมันพืชทามือเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ไส้ถั่วกวนติดมือ และไส้ถั่วกวนของเราจะนิ่ม เนียน ขึ้นรูปง่ายอีกด้วย
- เตรียมสีผสมอาหารให้เรียบร้อย แนะนำให้ใช้สีผสมอาหาร 1 ฝาต่อน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ หรือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบเข้มอ่อนของสี
- วิธีการทำลูกชุบในขั้นตอนที่ทุกคนรอคอยมาถึงแล้ว ให้แบ่งลูกชุบเป็นก้อนๆ เริ่มปั้นให้เกิดรูปได้ตามต้องการ ในขั้นตอนนี้ทุกคนสามารถปั้นตามไอเดียได้เลย
แนะนำหากใครคิดไม่ออกว่าจะปั้นเป็นรูปอะไรดี อาจจะปั้นเป็นรูปเบสิคอย่าง ผักผลไม้เช่นส้ม พริก มะละกอ ชมพู่ มังคุด มะม่วง ก็เป็นรูปร่างที่ครีเอทได้ง่าย โดยเราสามารถใช้ทั้งนิ้วมือ อุ้งมือ และไม้ปลายแหลมมาเป็นตัวช่วยปั้นให้เกิดรูปทรงได้ง่ายขึ้น
เช่น หากต้องการปั้นเป็นผลไม้รูปแครอท ให้คลึงไส้ถั่วกวนของเราให้เป็นวงกลมสวยงาม แล้วค่อยๆ ปรับรูปทรงให้เป็นทรงรีแบบหยดน้ำ โดยใช้อุ้งมือเราในการช่วยปั้นพร้อมกับใช้ไม้ปลายแหลมช่วยจิ้มให้เกิดลวดลาย ในขั้นตอนนี้ทุกคนจะได้ใช้ความใจเย็น เพราะต้องละเมียดละไมในการปั้น
ชุบกับวุ้นสีสันให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น
- หลังจากปั้นเสร็จแล้ว ให้นำลูกชุบรูปทรงต่างๆ ของเราเสียบกับไม้ปลายแหลม โดยเสียบแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นแค่ปลายไม้
- หลังจากนั้นนำลูกชุบของเราไปชุบกับสีผสมอาหารที่เตรียมเอาไว้ ในขั้นตอนนี้ทุกคนสามารถผสมสีได้ตามใจชอบ อาจจะทำเป็นผลไม้ไล่สี ด้วยการใช้พู่กันทำให้เกิดลวดลายได้ตามใจชอบ แล้วจึงพักเอาไว้ให้แห้ง
- พักไว้ให้แห้งจากสีผสมอาหารแล้ว เราจะเริ่มมาทำการชุบวุ้นกัน โดยจะชุบทั้งหมด 2 ครั้งคือชุบครั้งแรกพักทิ้งให้แห้ง แล้วจึงเริ่มชุบครั้งที่ 2 ต่อ โดยเราจะต้องวางและเสียบลูกชุบแต่ละไม้เว้นระยะ ไม่ให้ติดกัน
- เมื่อชุบวุ้นจนแห้งแล้ว นำลูกชุบของเรามาตัดตกแต่งต่อด้วยอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมความน่ารักสมจริง เช่นใบมะยม ปักลงบนส้ม หรือมะม่วงเสร็จแล้ว! เพียงเท่านี้เราก็จะได้ลูบชุบหน้าตาน่ารับประทาน โดยสามารถทานได้เลย ไม่ต้องนำไปนึ่งอีก
- เสร็จแล้ว! เพียงเท่านี้เราก็จะได้ลูบชุบหน้าตาน่ารับประทาน โดยสามารถทานได้เลย
6 เทคนิคเพื่อเพิ่มความเป็นมืออาชีพในวิธีการทำลูกชุบ
- เลือกใช้วัตถุดิบ ส่วนผสมที่เลือกสรรมาอย่างดี โดยเฉพาะถั่วเขียวที่จะต้องเลือกใช้ยี่ห้อที่มั่นใจว่าสะอาด รวมถึงผงวุ้นเพราะการที่จะได้ลูกชุบที่เคลือบเงาสวยได้ ต้องเกิดจากผงวุ้นที่ดี ซึ่งการทำขนมแต่ละครั้งวัตถุดิบคือหัวใจสำคัญมากที่สุดที่จะทำให้ขนมอร่อย ได้รสชาติที่ถูกใจทั้งคนทำ และถูกใจคนทาน
- วิธีการทำแต่ละขั้นตอนต้องใส่ใจ โดยเฉพาะสำหรับไส้ถั่วกวนของลูกชุบ ไส้ถั่วจะต้องเนียนละเอียดมากๆ ดังนั้นในขั้นตอนของการแช่น้ำ และนึ่งจนถั่วเขียวนิ่ม เป็นขั้นตอนที่สำคัญ
- เน้นความสะอาด หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพราะลูกชุบเป็นขนมไทยที่จะต้องใช้การหยิบจับ ปั้นลูกชุบด้วยมืออยู่ตลอดเวลา
- ใจเย็น ใช้สมาธิ ไม่รีบร้อน ลูกชุบเป็นขนมที่จะต้องใช้เวลาในการทำอย่างละเมียดละไมกว่าจะได้ขนมแต่ละชิ้น ดังนั้นแล้วเราจึงควรมีสมาธิ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ และให้เวลากับการทำ
- หาไอเดียใหม่ๆ มาสร้างสรรค์ในการทำ จุดเด่นของลูกชุบคือเป็นขนมไทยที่สร้างสรรค์ด้วยลวดลาย เพราะด้วยส่วนผสมของตัวไส้ที่อาจจะไม่ได้แตกต่างกันมาก ลวดลายของลูกชุบจึงสำคัญ บางคนอาจจะสามารถครีเอททำเป็นลูกชุบในรูปแบบของอาหาร ลูกชุบลายสัตว์ หรือลูกชุบลายตัวการ์ตูนต่างๆ
- ฝึกฝนทำบ่อยๆ เพราะสูตรการทำขนมของแต่ละคนไม่ตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนรสชาติได้ตามใจชอบของตนเอง บางคนอาจจะชอบหวานขึ้น หรือรสชาติหวานน้อย ในตรงนี้ก็จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และหัดทำบ่อยๆ เอง
สรุปท้ายบทความ
เป็นไงกันบ้างคะ บอกแล้วใช่มั้ยว่าวิธีการทำลูกชุบของเราไม่ยากแต่จะทำให้เรากลายเป็นมือปั้นลูกชุบมืออาชีพได้ง่ายๆ
ถึงแม้ลูกชุบเองจะเป็นขนมไทยที่สามารถหาซื้อได้ง่าย หลายคนอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาทำ แต่บอกเลยว่านอกจากวิธีการทำลูกชุบจะสามารถทำได้ง่ายแล้ว การทำลูกชุบก็ช่วยเพิ่มสมาธิให้เราในการทำ เพราะกว่าจะปั้นลูกชุบได้แต่ละลูกจะต้องใช้ความตั้งใจการครีเอทสร้างสรรค์ลวดลายเพื่อให้เกิดความสวยงาม
และยังสามารถเป็นกิจกรรมกันในครอบครัวได้ ด้วยการชวนทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และเด็กๆ มาช่วยกันปั้นสนุกๆ ในครอบครัว ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ได้ทั้งอิ่มท้อง อิ่มใจในคราวเดียวกัน และยังสามารถนำไปจัดเป็นเซ็ตอาหารว่าง หรือแม้แต่เป็นของฝากให้กับญาติผู้ใหญ่ หรือเด็กๆ ก็ได้ เพราะเรียกได้ว่าเป็นขนมอร่อยที่ใครๆ ก็ชอบรับประทาน