“ผงวุ้น” เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างสรรค์เมนูขนมวุ้นได้หลายรูปแบบ และปรุงรสได้หลากรสชาติ แต่กว่าจะเป็นเมนูวุ้นที่มีรสชาติอร่อยได้ มีความใส สวยงามน่ารับประทานก็ต้องมีเคล็ดลับด้วยเช่นกัน
มาดูกันเลยว่าเคล็ดลับในการทำวุ้นใสมีอะไรบ้าง พร้อมแนะนำเมนูต่อยอดของวุ้นใสให้ออกอร่อยและน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
วุ้นใส คืออะไรกันแน่?
หากจะเริ่มทำวุ้น หรืออยากเพิ่มความเชี่ยวชาญให้วุ้นดูน่าทาน ทำแล้วไม่มีจุดพลาด ควรจะต้องมาเริ่มจากจุดเริ่มต้นอย่างการทำ “วุ้นใส” ที่ถือว่าเป็นวุ้นเริ่มแรกที่ทุกควรควรจะลองทำ
เพราะนอกจากจะสามารถนำไปต่อยอดกับวุ้นรสชาติอื่นๆ ได้อีกหลายรูปแบบแล้ว การที่เราทำวุ้นแล้ววุ้นออกมามีสีใสสวยคล้ายกับน้ำเปล่า ไม่ขุ่นมัว ไม่คายน้ำ จะยิ่งทำให้วุ้นของคุณดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้นด้วย ถือเป็นการวัดความมืออาชีพอีกอย่างของคนทำวุ้นเลยก็ว่าได้
มาเริ่มทำวุ้นใสกันเลย!
มาลองทำเมนูวุ้นใส จุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นเมนูวุ้นอื่นๆ กันเลย
ส่วนผสมของวุ้นใส
- น้ำเปล่า 450 มิลลิลิตร
- น้ำตาลทรายขาว 125 กรัม (สามารถปรับลด หรือเพิ่มความหวานได้ตามใจชอบ)
- ผงวุ้นตรานางเงือก 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีการต้มวุ้นใส
- เทน้ำเปล่าปริมาณ 450 มิลลิลิตรลงในหม้อที่เตรียมไว้
- เทผงวุ้นปริมาณ 1/2 ช้อนโต๊ะตามลงไป โดยใช้ทัพพีคนให้ผงวุ้นกระจายตัวเพื่อไม่ให้ผงวุ้นจับตัวเป็นก้อน และพักทิ้งไว้เพื่อให้วุ้นอิ่มน้ำ ประมาณ 5-10 นาที เพราะจะทำให้วุ้นละลายได้ดีขึ้นเมื่อนำไปต้ม และเมื่อผงวุ้นละลายดีจะทำให้เมื่อทำวุ้นเสร็จแล้ววุ้นจะไม่มีอาการคายน้ำ (หากใช้ผงวุ้นปริมาณมากกว่านี้ ควรจะแช่ผงวุ้นให้อิ่มน้ำนานขึ้น)
- เมื่อพักจนครบเวลาแล้ว มาเริ่มต้มวุ้นตั้งไฟด้วยไฟกลาง และเคี่ยวไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้วุ้นนอนก้นหม้อ เมื่อวุ้นเริ่มเดือดให้เช็คว่าผงวุ้นละลายหมดดีแล้วหรือยัง ด้วยการใช้ทัพพี หรือช้อนสะอาดคนรอบหม้อ และเช็คว่าไม่มีผงวุ้นติดมาตามทัพพีหรือช้อน ถ้าหากไม่มีแสดงว่าผงวุ้นละลายดีแล้ว
- ใส่น้ำตาลทรายขาว 125 กรัมตามลงไป และเคี่ยวไปเรื่อยๆ จนเดือด และน้ำตาลทรายละลายจนหมด
- ปิดไฟ และคนเบาๆ ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าน้ำวุ้นของเราใสจนคล้ายกับน้ำเปล่า
- เสร็จเรียบร้อย เพียงเท่านี้เราก็จะได้วุ้นใสปิ๊งแล้ว
วุ้นใสนำไปทำวุ้นอะไรต่อได้บ้าง?
วุ้นใสถือเป็นวุ้นที่มือใหม่ควรเริ่มหัดลองทำอย่างมาก เพราะเป็นวุ้นเริ่มแรกที่สามารถนำไปต่อยอด และ
พัฒนาได้หลายแบบ เช่น วุ้นกุหลาบแก้วที่ใช้วุ้นใสเป็นองค์ประกอบ หรือนำไปปรับสูตร ใส่น้ำแดงเข้มข้นเพิ่มเพื่อเป็นวุ้นน้ำแดงก็ยังได้
เรียกได้ว่าหากคุณทำวุ้นใสเป็น ไม่ว่าจะวุ้นรูปแบบไหนๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้หมด เพราะวุ้นใสจะทำให้คุณมีความถนัด และทำให้คุณทำวุ้นออกมาใสสวยปิ๊งได้ทุกรูปแบบ
แนะนำเมนูวุ้นกุหลาบแก้ว
วุ้นกุหลาบแก้วเป็นอีกหนึ่งวุ้นที่มีทั้งวุ้นใส และวุ้นกะทิมาเป็นส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ความสวยงามของวุ้นกุหลาบแก้วนอกจากจะอยู่ที่รูปทรงของแม่พิมพ์กุหลาบแล้ว วุ้นใสคือส่วนสำคัญที่ทำให้วุ้นกุหลาบแก้วสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
เพราะหากวุ้นมีความใสมากไม่ขุ่นจะทำให้มองเห็นเนื้อวุ้นกะทิด้านใน ช่วยทำให้วุ้นกุหลาบแล้วดูน่ารับประทาน ที่สำคัญเรื่องรสชาติจะได้ทั้งความกรอบหอมของวุ้นใส และความหวานเค็มมันเข้มข้นของวุ้นกะทิ เป็นการผสมผสานของวุ้นที่ลงตัวให้รสชาติที่กลมกล่อม ใครเห็นก็ต้องชื่นชมในความสวยและรสชาติที่อร่อยเข้มข้นแน่นอน
ส่วนผสมสำหรับวุ้นกุหลาบ จำนวน 12 ชิ้น
ส่วนผสมวุ้นใส
- น้ำเปล่า 450 มิลลิลิตร
- น้ำตาลทรายขาว 125 กรัม (สามารถปรับลด หรือเพิ่มความหวานได้ตามใจชอบ)
- ผงวุ้นตรานางเงือก 1/2 ช้อนโต๊ะ
- ใบเตย 2-3 ใบ (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- แม่พิมพรูปกุหลาบแบบซิลิโคนขนาด 5 เซนติเมตร
ส่วนผสมวุ้นกะทิ
- ผงวุ้นตรานางเงือก 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายขาว 225 กรัม
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
- น้ำ 100 มิลลิลิตร
- น้ำกะทิ 300 มิลลิลิตร (ใช้กะทิแบบสดหรือกล่องก็ได้)
- แม่พิมพรูปกุหลาบแบบซิลิโคนขนาด 3 เซนติเมตร
ขั้นตอนการทำวุ้นกุหลาบแก้ว
วิธีทำวุ้นกะทิ
- มาเริ่มทำวุ้นกะทิก่อนด้วยการเทน้ำเปล่าปริมาณ 450 มิลลิลิตร ลงในหม้อที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นจึงใส่ผงวุ้น 1/2 ช้อนโต๊ะลงไป พักวุ้นทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที ให้วุ้นอิ่มน้ำ และละลายพอประมาณ
- เมื่อแช่วุ้นให้อิ่มน้ำจนครบเวลาแล้ว นำวุ้นขึ้นมาตั้งไฟด้วยไฟกลาง เคี่ยวผงวุ้นกับน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ผงวุ้นตกตะกอนและไหม้ก้นหม้อ เมื่อวุ้นเริ่มเดือดให้เช็คว่าผงวุ้นละลายหมดดีแล้วหรือยัง โดยถ้าหากไม่มีผงวุ้นติดตามทัพพีแล้ว สามารถทำขั้นตอนถัดไปได้เลย แต่หากมีผงวุ้นติดขึ้นมาให้ต้มต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีเศษของผงวุ้น
- หลังจากนั้นจึงใส่น้ำตาลทราย 225 กรัม (ปรับเพิ่มหรือลดความหวานได้ตามใจชอบ) แล้วจึงใส่เกลือ 1/4 ช้อนชา เพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความกลมกล่อม เค็มนำมากยิ่งขึ้น
- เมื่อน้ำตาลและเกลือละลายดีแล้วให้ใส่น้ำกะทิปริมาณ 300 มิลลิลิตร ตามลงไป เมื่อเดือดสามารถปิดไฟได้เลย
- พักไว้ให้วุ้นพออุ่นๆ แล้วจึงหยอดใส่แม่พิมพ์กุหลาบขนาดเล็กแบบเต็มพิมพ์เลย
- พักไว้ให้วุ้นกะทิเซ็ตตัวดีที่อุณหภูมิห้อง
วิธีทำวุ้นใส
- มาเริ่มทำวุ้นน้ำใสต่อ เทน้ำเปล่าปริมาณ 450 มิลลิลิตร ลงในหม้อที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นจึงใส่ผงวุ้น 1/2 ช้อนโต๊ะลงไป พักวุ้นทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที ให้วุ้นอิ่มน้ำ และละลายพอประมาณ เตรียมพร้อมสำหรับการนำไปต้มต่อ
- เมื่อแช่วุ้นให้อิ่มน้ำจนครบเวลาแล้ว นำวุ้นขึ้นมาตั้งไฟด้วยไฟกลาง พร้อมใส่ใบเตย 2-3 ใบลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้กับวุ้นใส (หากใครไม่มีไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้)
- เคี่ยวผงวุ้นกับน้ำไปเรื่อยๆ เมื่อวุ้นเริ่มเดือดให้เช็คว่าผงวุ้นละลายหมดดีแล้วหรือยัง หากไม่มีผงวุ้นติดตามทัพพีสามารถทำขั้นตอนถัดไปได้เลย
- เติมน้ำตาลทรายขาว 125 กรัม ตามลงไป เคี่ยวไปเรื่อยๆ จนน้ำเดือด และน้ำตาลทรายละลายหมดจึงปิดไฟ จะเห็นได้ว่าเราได้วุ้นน้ำใสที่มีสีคล้ายกับน้ำเปล่า ให้เตรียมนำใส่แม่พิมพ์
- พักทิ้งไว้ให้พออุ่นๆ จึงหยอดใส่พิมพ์ โดยใช้พิมพ์กุหลาบที่มีขนาดใหญ่กว่าวุ้นกะทิ หยอดวุ้นใสแค่เพียง 1/4 หรือแค่เพียงเป็นฐานของแม่พิมพ์ที่พอจะทำให้วุ้นกะทิสามารถมายึดต่อกันได้ และวุ้นกะทิไม่ออกมาชนปลายดอกของวุ้นใส
- แกะวุ้นกะทิออกจากแม่พิมพ์เพื่อนำมาประกอบร่างกัน
- พักวุ้นใสที่หยอดใส่แม่พิมพ์ไว้ทิ้งไว้เพียงครู่เดียวเพื่อให้วุ้นใสที่เป็นฐานเซ็ตตัว แล้วจึงใส่วุ้นกะทิที่แกะมาแล้วลงในบริเวณตรงกลางของแม่พิมพ์วุ้นใส (วางแบบหงายท้องรูปกุหลาบขึ้น)
- หยอดวุ้นใสเททับใส่อีกรอบเพื่อให้ยึดกัน และเซ็ตตัวสวย เพื่อทำครบทุกชิ้นพักวุ้นทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง หรือจะนำไปแช่ตู้เย็นเพื่อให้วุ้นเซ็ตตัวได้เร็วยิ่งขึ้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง
- เมื่อวุ้นเซ็ตตัวดีแล้วนำออกมาแกะของจากพิมพ์ เราก็จะได้วุ้นกุหลาบแก้ว ที่มีทั้งวุ้นใสสวยปิ๊ง และมองเห็นวุ้นกะทิด้านในสวยงาม
- พร้อมนำเสิร์ฟได้เลย โดยแนะนำให้แช่ตู้เย็นก่อนจัดเสิร์ฟจะช่วยเพิ่มความอร่อย และความสดชื่นให้วุ้นกุหลาบแก้วยิ่งขึ้น
เคล็ดลับในการทำวุ้นให้ออกมาใส สวยงาม
- ผงวุ้นที่ใช้ต้องมีคุณภาพ
การจะทำวุ้นใสให้ดูใสจริงๆ ควรเริ่มจากการเลือกใช้ผงวุ้นที่มีคุณภาพ อย่างผงวุ้นตรานางเงือก เพราะเป็นองค์ประกอบหลักสำคัญที่จะทำให้วุ้นออกมาเป็นวุ้นใส ที่มีเนื้อใสเหมือนกับน้ำเปล่า ไม่มีรสชาติ และไม่มีแคลอรี่ด้วย
- แช่ให้วุ้นอิ่มน้ำพอดี
ระยะเวลาการแช่วุ้นเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับประมาณผงวุ้น 1/2 ช้อนโต๊ะท ควรใช้ระยะเวลาในการแช่ให้วุ้นละลาย และอิ่มน้ำประมาณ 5-10 นาที ไม่ควรน้อยเกินไปกว่านี้ เพราะจะส่งผลทำให้ตัววุ้นคายน้ำ และอาจจะทำให้วุ้นไม่ใสอย่างที่ตั้งใจได้ - ใช้ความร้อนให้เหมาะสม
สำหรับในการต้มวุ้นแนะนำให้ใช้ “ไฟกลาง” ในการต้ม และควรเคี่ยวผงวุ้น และน้ำตาลไปเรื่อยๆ ด้วย เพราะจะทำให้ผงวุ้นและน้ำตาลไม่ไปติดก้นหม้อ และทำให้ส่วนผสมทั้งสองมีการละลายที่ดีขึ้น - ใช้น้ำตาลทรายขาว
น้ำตาลจะช่วยทำให้วุ้นมีความเงาใสมากขึ้น ดังนั้นหากอยากได้วุ้นที่ใส ควรใช้น้ำตาลทรายขาวมากกว่าน้ำตาลทรายแดง เพราะจะทำให้ได้วุ้นสีขาว และดูใสมากกว่า
สรุปท้ายบทความ
เพียงเท่านี้เราก็จะได้วุ้นใสที่ดูใสปิ๊งคล้ายกับน้ำเปล่า แค่มองก็ดูน่าทานแล้วค่ะ! เพราะวุ้นนอกจากจะต้องการความอร่อยแล้ว เรื่องหน้าตาก็ต้องสวยงามชวนรับประทานตามไปด้วย
“วุ้นใส” ทำไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ใส่ใจองค์ประกอบและความสำคัญเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรมองข้าม ลองทำตามดูแล้วจะรู้ว่าวุ้นของเราสวยงามได้มากกว่าเดิมอีก!