นอกจากอาหารคาวของไทยจะอร่อยจนเลื่องลือแล้ว “ขนมไทย” ก็เป็นของหวานล้างปากที่ทานกี่ครั้งก็ยังอร่อย ด้วยรสชาติที่มาครบทั้งหวาน มัน เค็ม ใครได้ทานก็ต้องติดใจ ด้วยสูตรขนมไทยส่วนใหญ่มักจะใช้ทั้งกะทิสด น้ำตาลมะพร้าว ใบเตย หรือส่วนผสมอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบพื้นบ้าน
นั่นจึงทำให้สูตรขนมไทยของเราเป็นเอกลักษณ์ทั้งในแง่ของการเลือกใช้วัตถุดิบ วิธีการทำที่ละเอียดละออ และพิถีพิถัน ไปจนถึงหน้าตาของขนมไทยที่ชวนรับประทาน
แต่อย่าเพิ่งคิดว่า “ขนมไทย” นั้นทำยาก ในบทความนี้เรามาแกะสูตรของขนมไทยยอดฮิต 15 เมนู ทั้งส่วนผสม และวิธีทำ เรียกได้ว่าแค่อ่านจบ คุณจะได้รู้ทำความรู้จักลึกถึงวิธีการทำ ที่บอกเลยว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด เตรียมมาลงมือทำขนมไทยกันเลยค่ะ
แกะสูตร 15 เมนูขนมไทยทำตามได้เลย
สำหรับใครที่อยากเข้าครัวทำขนมไทยเองดูบ้าง เราได้รวบรวมเมนูขนมไทย 15 ชนิด ที่บอกทั้งสูตรและวิธีทำให้แล้ว
1. บัวลอยไข่หวาน
บัวลอยสูตรขนมไทยที่หาทานได้ง่าย ถูกใจทุกเพศทุกวัย เพราะด้วยเนื้อบัวลอยแบบเหนียวนุ่มและสีสันชวนรับประทาน ตัดด้วยน้ำกะทิหวานมัน กับไข่หวานยิ่งทำให้ได้รสชาติที่เข้ากัน
ส่วนผสมตัวแป้งบัวลอย
- แป้งข้าวเหนียว 100 กรัม
- แป้งมัน 10 กรัม
- สีผสมอาหาร
- น้ำเปล่า
ส่วนผสมน้ำกะทิ
- หางกะทิ 2 ถ้วย
- หัวกะทิ 2 ถ้วย
- น้ำตาลปี๊บ 100 กรัม
- น้ำตาลทราย 80 กรัม
- เกลือป่น 1/4 ช้อนโต๊ะ
- ไข่ไก่
วิธีทำบัวลอยไข่หวาน
- เริ่มกันที่ทำแป้งบัวลอย ใส่แป้งข้าวเหนียวลงในชามผสม ตามด้วยแป้งมัน และสีผสมอาหาร ในขั้นตอนนี้หากใครต้องการทำแป้งบัวลอยหลายสี สามารถแยกชามผสมและแบ่งเทสีผสมอาหารตามที่ต้องการได้เลยค่ะ
- หลังจากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเปล่าลงไป พร้อมกับนวดแป้งไปด้วย ใส่จนครบ 8 ช้อนโต๊ะ หรือจนรู้สึกว่าเนื้อแป้งมีความเนียนนุ่ม
- นำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดประมาณ 1 ซม. ไม่ควรปั้นขนาดใหญ่มาก เพราะเมื่อแป้งสุกตัวแป้งจะขยายใหญ่ขึ้นอยู่แล้ว หลังจากนั้นนำไปต้มในน้ำที่เดือดจัด เมื่อแป้งลอยตัวขึ้นมาให้ช้อนแป้งขึ้นมาพักไว้ในน้ำเย็น
- เตรียมทำน้ำกะทิ โดยนำหางกะทิขึ้นตั้งเตาโดยใช้ไฟกลาง ตามด้วยใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย และเกลือ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- ใส่ไข่ลงในกะทิทีละฟอง ระวังอย่าให้ไข่แตก เมื่อไข่สุกแล้วตักขึ้นมาพักทิ้งไว้
- เติมหัวกะทิลงไปในน้ำกะทิที่เราต้มเอาไว้แล้ว คนทั้งหมดให้เข้ากัน หลังจากนั้นจึงนำแป้งบัวลอยใส่ลงไปในน้ำกะทิ พร้อมกับต้มทิ้งไว้ให้น้ำกะทิซึมเข้าไปในแป้งบัวลอยให้มีความหวานมันมากขึ้น ประมาณ 15 นาที (หากอยากให้แป้งมีความเข้มข้นสามารถพักทิ้งไว้นานกว่านี้ได้)
- นำบัวลอยพร้อมกับน้ำกะทิตักขึ้นใส่ถ้วย พร้อมกับใส่ไข่หวาน และจัดเสิร์ฟได้เลย
2. กล้วยบวชชี
กล้วยถือว่าเป็นวัตถุดิบคู่ครัวคนไทย หาซื้อได้ง่าย มีสารอาหารหลากหลาย จึงทำให้ “กล้วยบวชชี” เป็นสูตรขนมไทยยอดฮิตที่ใครได้ทานก็ต้องขอต่ออีกถ้วย เพราะมีทั้งรสชาติหวาน มัน เค็มจากทั้งกล้วยที่เหนียวหนึบ ไม่เละจนเกินไป ตัดกับน้ำกะทิที่อร่อยลงตัว
ส่วนผสมกล้วยบวชชี
- กล้วยน้ำว้าห่าม 8 ลูก
- หัวกะทิ 225 มล.
- หางกะทิ 300 มล.
- น้ำตาลปี๊บ 30 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 20 กรัม
- ใบเตย
- เกลือ 1/4 ช้อนโต๊ะ
- แป้งมัน 1 ช้อนชา
วิธีทำกล้วยบวชชี
- นำกล้วยน้ำว้านึ่งโดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที เพื่อให้ผิวของกล้วยเริ่มแตกออก หรือหากใครไม่มีที่นึ่งสามารถใช้วิธีการต้มกล้วยในน้ำเดือดแทนได้ค่ะ
- นำกล้วยมาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ ให้พอดีคำ
- ตั้งหม้อโดยใส่หางกะทิลงไปในหม้อ เพื่อเพิ่มความหอมให้น้ำกะทิให้ใส่ใบเตยตามลงไปจนน้ำเดือด หลังจากนั้นจึงใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย และเกลือ คนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้วจึงใส่กล้วยลงไปในหางกะทิ
- รอจนน้ำกะทิเดือดให้ใส่หัวกะทิตามลงไป หากใครอยากได้น้ำกะทิที่เหนียวข้นขึ้นสามารถใส่แป้งมันลงไปเพิ่มได้ในขั้นตอนนี้ค่ะ
- ต้มต่อจนจนน้ำกะทิ และกล้วยเดือดอีกครั้ง ระวังอย่าต้มนานจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้กล้วยเละได้ค่ะ หลังจากนั้นพร้อมนำเสิร์ฟได้เลย
3. สังขยาฟักทอง
ขนมที่ผสานผลไม้อย่างฟักทองกับความหวานของสังขยาอย่างลงตัว เป็นสูตรขนมไทยที่จะให้รสชาติหวานละมุนลิ้นแบบไม่เลี่ยน เพราะด้วยฟักทองนึ่งจะได้เนื้อนุ่มๆ ทานคู่กับสังขยาเนื้อเนียนหวานพอดี รับรองว่าอร่อยแบบเพลินๆ
ส่วนผสมสังขยาฟักทอง
- ฟักทอง 1 ลูก
- กะทิ 200 มล.
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- ไข่เป็ด 2 ฟอง
- น้ำตาลปี๊บ 180 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา
- ใบเตย
วิธีทำสังขยาฟักทอง
- เตรียมฟักทองให้พร้อม โดยนำฟักทองที่คว้านฝาแล้วมาคว้านเมล็ดออกให้หมด ให้เหลือเพียงแต่ใยด้านในให้เก็บเอาไว้ เพื่อช่วยยึดตัวสังขยาไม่ให้หลุดออกเวลานำไปนึ่ง หลังจากนั้นล้างทำความสะอาดฟักทองทั้งด้านใน และด้านนอก และพักทิ้งไว้ให้ฟักทองแห้ง
- ทำสังขยาโดยการตอกทั้งไข่ไก่ และไข่เป็ดลงในชามผสม ตามด้วยกะทิ น้ำตาลปี๊บ พร้อมเติมกลิ่นหอมด้วยใบเตยลงไป หลังจากนั้นผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันด้วยวิธีการขยำ เพื่อให้ได้สังขยาที่เนื้อเนียน ให้กรองส่วนผสมด้วยผ้าขาวบาง หรือกระชอนตาถี่ แนะนำให้กรองส่วนผสมมากกว่า 1 ครั้ง
- เทสังขยาลงในฟักทองในปริมาณที่เหลือบริเวณด้านบนไว้เล็กน้อย เพราะเมื่อนำไปนึ่งสังขยาจะฟูตัวขึ้นมาอีก และหากเทแล้วเกิดฟองให้ตักออกจนหมดเพื่อให้ได้สังขยาที่หน้าเนียน
- นำฟักทองสังขยาไปนึ่งประมาณ 45 นาที เพื่อความชัวร์ว่าสังขยาสุกดีแล้วให้ใช้ไม้จิ้มปลายแหลมจิ้มลงไป ถ้าหากไม่มีเนื้อสังขยาติดขึ้นมาตามไม้จิ้มแสดงว่าเนื้อสังขยาสุกดี แต่หากจิ้มแล้วติดออกมาให้นึ่งต่อ และใช้วิธีเช็คเรื่อยๆ
- จากนั้นไปแช่ตู้เย็นเพื่อให้ฟักทองสังขยาเซ็ตตัว และนำมาจัดเสิร์ฟได้ โดยอาจจะตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ ให้รับประทานได้ง่ายขึ้น
4. ขนมต้ม
ขนมต้มอาจจะหาทานยากหน่อยในสมัยนี้ แต่ก็ยังคงเห็นได้ตามงานมงคลต่างๆ ด้วยความเชื่อว่าเป็นขนมของเทพเจ้า ซึ่ง “ขนมต้ม” ให้รสสัมผัสแบบเหนียวนุ่มที่ห่อหุ้มด้วยไส้มะพร้าว แบบหวานกลมกล่อมอย่างลงตัว
ส่วนผสมทำไส้ขนมต้ม
- มะพร้าวขูด 300 กรัม (แนะนำให้ใช้เป็นมะพร้าวทึนทึก หรือมะพร้าวกลางอ่อนกลางแก่)
- น้ำตาลปี๊บ 200 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ หรือน้ำเปล่า
ส่วนผสมแป้งขนมต้ม
- แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม
- น้ำใบเตย 80 มล.
- หัวกะทิ
ส่วนผสมคลุกหน้าขนมต้ม
- มะพร้าวขูด 100 กรัม
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
วิธีทำขนมต้ม
- นำมะพร้าวขูด น้ำตาลปี๊บ และน้ำลอยดอกมะลิ หรือหากไม่มีสามารถใช้น้ำเปล่าได้ ใส่ทั้งหมดลงในกระทะ ด้วยไฟกลาง และคนจนน้ำตาลปี๊บละลายหมด หลังจากนั้นให้ใช้ไฟอ่อน และผัดไส้ไปเรื่อยๆ จนแห้งจึงยกลงจากเตา และพักไว้ให้พออุ่น
- เมื่อไส้ขนมต้มเย็นลงแล้วให้นำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณปลายนิ้วโป้ง หากใครอยากให้ขนมต้มมีกลิ่นหอมสามารถนำไส้ไปอบควันเทียนได้ในขั้นตอนนี้
- จากนั้นมาทำตัวแป้งขนมต้มด้วยการผสมแป้งข้าวเหนียว และค่อยๆ ทยอยใส่น้ำใบเตย และหัวกะทิเข้าด้วยกัน ค่อยๆ นวดจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันจึงเติมน้ำใบเตย และหัวกะทิเพิ่มเข้าไปอีก วิธีนี้จะช่วยให้แป้งเหนียวนุ่มขึ้น
- นำผ้าขาวบาง หรือพลาสติกแร็ปมาคลุมแป้งเพื่อพักแป้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
- นำมะพร้าวที่ขูดไว้แล้วไปนึ่งให้สุก แล้วนำมาคลุกกับเกลือ
- มาเริ่มนำขนมไปต้มให้สุกกันเลย ตั้งกะทะด้วยไฟกลาง ใส่น้ำเปล่า พร้อมกับใบเตยลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม
- เมื่อน้ำเดือดให้ปั้นแป้งก้อนกลมๆ แล้วจึงแผ่แป้งออกเป็นแผ่นบางๆ เพื่อใส่ไส้ที่เราเตรียมเอาไว้ ให้ตัวแป้งหุ้มตัวไส้ให้มิด หลังจากนั้นจึงปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆ
- ใส่ลงไปในกะทะที่น้ำเดือดแล้ว รอจนตัวแป้งลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วจึงค่อยๆ ช้อนตัวแป้งขึ้นมา ระหว่างนั้นต้องสะเด็ดน้ำจากตัวแป้งออกให้มากที่สุด แล้วจึงนำแป้งที่ได้ไปคลุกกับมะพร้าวขูดผสมเกลือที่เตรียมเอาไว้ ทำต่อจนหมด พร้อมกับนำเสิร์ฟได้เลย
5. ทองหยิบ
ทองหยิบสูตรขนมไทยที่มีมายาวนาน แต่ด้วยความอร่อยจึงทำให้ยังมีมาถึงปัจจุบัน ความอร่อยของทองหยิบได้มาจากไข่แดงของไข่เป็ดล้วนๆ กับส่วนผสมของน้ำเชื่อม เรียกได้ว่าใครที่หลงรักความหวานจะต้องหลงรักสูตรขนมไทยทองหยิบแน่นอน
ส่วนผสมทองหยิบ
- ไข่เป็ด 6 ฟอง
- ไข่ไก่ 6 ฟอง
- น้ำตาลทราย 1 กก.
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
- กลิ่นมะลิ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำทองหยิบ
- นำกะทะใส่น้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟกลางตามด้วยน้ำตาลทราย ปล่อยให้น้ำตาลทราย และน้ำเปล่าละลายเป็นเนื้อเดียวกันโดยที่ไม่ต้องคน (หากคนอาจจะทำให้น้ำตาลเป็นเกล็ด) จึงตามด้วยกลิ่นมะลิเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้กับทองหยอด
- ตักน้ำเชื่อมจากในกะทะประมาณ 1 ถ้วยตวง ออกมาเพื่อพักทิ้งไว้ให้น้ำเชื่อมเย็น ส่วนน้ำเชื่อมในกะทะรอจนน้ำเชื่อมข้นจึงปิดไฟ
- แยกไข่ของจากไข่เป็ด และไข่ไก่ แล้วนำไข่แดงของทั้งคู่มากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วจึงจำไข่แดงตีด้วยตะกร้อจนไข่แดงขึ้นฟู จากนั้นจึงเตรียมนำไปหยอดในน้ำเชื่อม
- หยอดไข่แดงลงในน้ำเชื่อมในกะทะ โดยยกช้อนให้ไข่ไหลเป็นสาย และหยอดให้หมดในครั้งเดียว โดยไข่ที่ได้จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเหรียญสิบ และควรหยอดแต่ละชิ้นให้ห่างกันในกะทะเพื่อไข่จะได้ไม่ติดกัน
- เมื่อหยอดไข่เสร็จแล้วจึงเปิดไฟอ่อนๆ เพื่อให้ไข่สุกขึ้น หลังจากนั้นเมื่อไข่แดงสีเข้มขึ้นให้กลับด้านไข่ เพื่อให้ไข่สุกทั้งสองด้าน
- ตักไข่แดงที่สุกแล้วจากในกะทะไปพักในน้ำเชื่อมเย็นที่เราแบ่งเอาไว้เพื่อให้ไข่เย็นตัวลง
- จับจีบไข่แดงโดยใช้วิธีจับเป็น 3 จีบก่อนจะหย่อนลงไปในถ้วยตะไล และทิ้งไว้ในถ้วยประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อให้ขนมเซ็ตตัวเป็นรูปทรงในถ้วย เมื่อเซ็ตตัวดีแล้วก็เอาออกจากถ้วย และพร้อมเสิร์ฟได้เลย
6. ทองหยอด
ทองหยอดเป็นขนมที่มักจะมาคู่เสมอกับทองหยิบที่ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา แต่มีจุดเด่นและความอร่อยที่แตกต่างกัน โดยทองหยอดนั้นจะมีลักษณะกลม
ส่วนผสมทองหยอด
- ไข่แดงของไข่เป็ด 9 ฟอง
- แป้งข้าวเจ้า 80 กรัม
- น้ำตาลทราย 500 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ 300 มล. หรือน้ำเปล่า
วิธีทำทองหยอด
- เทน้ำลอยดอกมะลิ หรือหากไม่มีสามารถใช้น้ำเปล่าได้ ตามด้วยน้ำเปล่าแล้วจึงนำไปตั้งไฟด้วยไฟแรงจนเดือด แล้วเคี่ยวต่ออีกประมาณ 15 นาที หรือจนน้ำเชื่อมข้นขึ้น ตามด้วยแบ่งน้ำเชื่อมประมาณ 1 ถ้วยตวงออกมาพักไว้ให้เย็น ส่วนที่เหลือตั้งไฟต่อไว้เช่นเดิม
- แยกไข่แดงออกจากไข่ขาว โดยนำไข่แดงกรองด้วยผ้าขาวบาง และตีจนขึ้นฟู ตามด้วยใส่แป้งข้าวเจ้าลงไปผสมจนเข้ากัน
- นำแป้งที่ได้ไปหยอดลงในน้ำเชื่อมที่เดือด โดยใช้ปลายช้อนตักแป้งขึ้นมาแล้วใช้ปลายนิ้วโป้งดันลงไปในกระทะ หรือหากใครสะดวกแบบปั้นเป็นลูกกลมก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แล้วจึงใส่ลงไปในน้ำเชื่อม
- รอจนแป้งสุกจะลอยขึ้นมาเหนือน้ำเชื่อม ให้ใช้กระชอนตักขึ้นมาแล้วพักไว้ในน้ำเชื่อมเย็นที่เราแบ่งเอาไว้ พร้อมจัดเสิร์ฟได้เลย
7. ฝอยทอง
เชื่อว่า “ฝอยทอง” เป็นขนมไทยสุดโปรดของใครหลายคน เพราะด้วยสีสันหน้าตาชวนรับประทาน ความอร่อย ทานง่าย สามารถเข้าคู่ทานกับขนมได้หลายอย่าง ทำให้ปัจจุบันเป็นสูตรขนมไทยที่นำไปประยุกต์ทานคู่กับขนมอื่นๆ ได้เยอะแยะมากเลยทีเดียว
ส่วนผสมฝอยทอง
- ไข่แดงของไข่เป็ด 6 ฟอง
- ไข่แดงของไข่ไก่ 3 ฟอง
- น้ำค้างไข่ (ไข่ขาวที่เป็นน้ำใสๆ ที่ติดอยู่กับเปลือก)
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
- น้ำตาลทราย 1 กก.
- กลิ่นมะลิ
- ไม้ปลายแหลม
วิธีทำฝอยทอง
- แยกไข่แดงออกจากไข่เป็น และไข่ไก่ หลังจากนั้นกรองไข่แดงทั้งหมด และน้ำค้างไข่ด้วยผ้าขาวบาง เพื่อจะทำให้ได้เส้นฝอยทองที่สวยเนียน แนะนำว่าหากรอบแรกกรองแล้วยังรู้สึกว่าไม่ละเอียดให้กรองซ้ำอีกรอบได้
- ตั้งไฟกลางโดยใส่น้ำตาล และน้ำเปล่า พร้อมหยดน้ำมะลิเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม คนจนน้ำตาลละลาย เมื่อละลายดีแล้สให้เบาไฟลง
- รอจนน้ำเชื่อมในกะทะมีลักษณะเป็นน้ำพุตรงกลางกระทะ แล้วจึงใช้กรวยโรยฝอยทอง หรือหากใครไม่มีสามารถใช้ถุงบีบมาม้วนเป็นกรวยแทนได้ โรยไข่แดงเป็นวงกลม หากโรยในระยะสูงจะได้ฝอยทองเส้นเล็ก แต่หากโรยแบบต่ำจะได้เส้นใหญ่ สามารถเลือกโรยได้ตามใจชอบเลย โรยวนไปเรื่อยๆ ประมาณ 20 รอบ
- จากนั้นให้ใช้ไม้ปลายแหลมเกี่ยวเส้นไข่ที่สุกแล้วนำไปวนในน้ำเชื่อม พร้อมกับนำเส้นฝอยทองมาพักบนตระแกรงให้สะเด็ดน้ำเชื่อมออก แล้วจับฝอยทองให้ม้วนพอดีคำ จึงจัดเสิร์ฟ
8. ครองแครงน้ำกะทิ
ขนมไทยที่มีหน้าตาคล้ายกับตัวหนอน ให้รสสัมผัสที่เหนียมนุ่มจากตัวแป้ง กับรสชาติที่หวานมันจากน้ำกะทิ และงาขาวคั่ว เป็นสูตรขนมไทยที่ไม่ตายตัว เพราะจะทานแบบร้อน หรือแบบเย็นก็อร่อยได้เหมือนกัน
ส่วนผสมครองแครงน้ำกะทิ
1. แป้งมัน 320 กรัม
2. แป้งข้าวเจ้า 160 กรัม
3. น้ำเปล่า 1 1/2 ถ้วยตวง
4. ดอกอัญชัน
5. กะทิอบควันเทียน 1 ลิตร
6. น้ำตาลทราย 200 กรัม
7. เกลือ 1 ช้อนชา
8. งาขาวคั่ว
วิธีทำครองแครงน้ำกะทิ
- ใช้แป้งมัน ผสมกับแป้งข้าวเจ้าเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นจึงแบ่งทั้งหมดออกเป็น 2 ส่วน
- นำดอกอัญชันกับน้ำเปล่าไปต้มจนได้สีน้ำเงินเข้ม แล้วจึงกรองเอาน้ำดอกอัญชันมาแบ่งออกเป็น 2 ถ้วย โดยถ้วยแรกให้แบ่งให้เป็นสีเข้ม 2/3 ส่วน และถ้วยที่สองสีอ่อนๆ ใช้เพียง 1/3 ของถ้วย
- นำน้ำดอกอันชัญที่สีเข้มกว่าผสมลงไปในถ้วยแป้งที่แบ่งเอาไว้ โดยใช้ไม้พายตะล่อมแป้งและน้ำอัญชัน แล้วจึงนวดด้วยมือให้เข้ากัน แล้วทำแบบเดียวกันกับน้ำดอกอัญชันสีอ่อนเพื่อให้ได้แป้งครองแครงแบบสองสี
- นำแป้งที่นวดเอาไว้มาแบ่งเป็นก้อนประมาณเท่าหัวนิ้วก้อย แล้วจึงกดลงไปในพิมพ์ครองแครงเพื่อให้ได้ลายสวยงาม
- นำครองแครงที่ได้ไปต้มในน้ำเปล่าที่เดือด เมื่อสุกแล้วครองแครงจะลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ให้ตักแล้วนำไปแช่ในน้ำเย็น ให้แป้งเย็นตัวลงและเพื่อไม่ให้แป้งจับตัวติดกัน
- มาเริ่มทำตัวกะทิ โดยตั้งหม้อด้วยไฟกลาง แล้วจึงใส่กะทิ น้ำตาลทราย และเกลือ คนให้ทั้งหมดเข้ากัน แล้วจึงตักครองแครงใส่ในถ้วย ตามด้วยน้ำกะทิ แล้วโรยปิดท้ายด้วยงาขาวคั่ว พร้อมนำไปเสิร์ฟ
9. ขนมชั้น
ขนมไทยที่ยังพบเห็นกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าใครก็คงต้องรู้จักขนมชั้นแน่นอน แม้ว่าชื่อขนมชั้นจะฟังดูยาก ต้องทำหลายขั้นตอน แต่จริงๆ แล้วทำได้ง่ายมาก แม้ว่าจะเป็นมือใหม่หัดเข้าครัวก็ทำตามได้
ส่วนผสมขนมชั้น
- แป้งมัน 320 กรัม
- แป้งข้าวโพด 80 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 80 กรัม
- แป้งท้าวยายม่อม 40 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 550 กรัม
- หัวกะทิ 3 ถ้วย
- น้ำลอยดอกมะลิ หรือน้ำเปล่า 1 ถ้วย
- สีผสมอาหาร
วิธีทำขนมชั้น
- ผสมแป้งทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งแป้งมัน แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเจ้า และแป้งท้าวยายม่อม แล้วพักทิ้งไว้
- นำน้ำลอยดอกมะลิ หรือหากไม่มีสามารถใช้น้ำเปล่าได้ขึ้นตั้งไฟ พร้อมใส่น้ำตาลตามลงไป เมื่อน้ำตาลละลายดีแล้วให้ยกลงจากเตาและพักทิ้งไว้ให้เย็น
- เมื่อน้ำเชื่อมเย็นแล้วให้ใส่หัวกะทิ พร้อมกับคนให้เข้ากัน แล้วจึงนำหัวกะทิและน้ำเชื่อมไปผสมกับแป้งที่เราเตรียมเอาไว้ แนะนำให้ค่อยๆ เททีละนิดพร้อมคลุกเคล้าไปด้วย โดยขยำให้แป้งเข้ากันดีใช้เวลาประมาณ 20 นาที
- นำแป้งที่ได้มากรองกับกระชอนตาถี่เพื่อให้ได้แป้งที่เนื้อเนียนละเอียด หลังจากนั้นจึงแบ่งแป้งออกเป็น 2 ส่วน แล้วนำส่วนผสมที่ 1 ใส่สีผสมอาหารลงไปสามารถใช้ได้ทั้งสีเขียว หรือสีฟ้าได้ตามใจชอบ
- เตรียมนึ่งโดยนำถาดพิมพ์มาเตรียมเอาไว้ แล้วเทแป้งที่ผสมสีลงไปก่อน โดยให้มีความหนาประมาณ 2 มล. แล้วนำไปนึ่งประมาณ 10 นาที จากนั้นจึงเทแป้งสีขาวตามลงไปทับด้วยความหนาพอๆ กัน แล้วจึงทำแบบนี้สลับสีกันไปเรื่อยๆ
- เมื่อทำครบแล้ว ทิ้งไว้ให้ขนมชั้นของเราเย็นลง แล้วจึงตัดพร้อมเสิร์ฟ
10. วุ้นกะทิใบเตย
วุ้นเป็นขนมที่ไม่ว่าใครก็ต้องหลงรัก เพราะทานง่าย ช่วยเติมความสดชื่น ให้ความหวานได้ระหว่างวัน หรือจะเป็นของหวานล้างปากก็ทำให้มื้ออาหารของคุณกลายเป็นมื้อที่อร่อย และยังเป็นสูตรขนมไทยที่ทำได้ง่ายมากๆ และยังใช้เวลาในการทำไม่นานอีกด้วย
ส่วนผสมชั้นวุ้นใบเตย
1. ใบเตย
2. น้ำ 550 มิลลิลิตร
3. น้ำตาลทราย 95 กรัม
4. ผงวุ้น 5 กรัม
ส่วนผสมชั้นวุ้นกะทิ
1. น้ำกะทิ 200 กรัม
2. น้ำ 200 กรัม
3. น้ำตาลทราย 95 กรัม
4. ผงวุ้นตรานางเงือก 5 กรัม
5. เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำวุ้นกะทิใบเตย
- นำใบเตยมาหั่นเป็นชิ้นแล้วไปปั่นกับน้ำ แล้วจึงกรองน้ำใบเตยด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้น้ำใบเตย
- นำผงวุ้นตรานางเงือกไปแช่ในน้ำใบเตย 1 ถ้วยผสม และแช่ในน้ำเปล่าอีก 1 ถ้วยผสมเพื่อให้วุ้นอิ่มตัวประมาณ 15 นาที
- จากนั้นนำน้ำใบเตยและผงวุ้นที่แช่ด้วยกันมาตั้งไฟ ตามด้วยใส่น้ำตาล คนจนน้ำตาลและผงวุ้นละลายดีหมด
- เทใส่พิมพ์ที่เตรียมเอาไว้ และทิ้งไว้จนวุ้นเซ็ตตัวแข็งดี สามารถแช่ตู้เย็น หรือพักในอุณหภูมิห้องก็ได้
- นำกะทิ และน้ำเปล่าที่แช่วุ้นทิ้งไว้แล้วมาขึ้นตั้งไฟกลาง พร้อมกับใส่น้ำตาล และเกลือ คนจนส่วนผสมทั้งหมดละลายตัวดี
- จากนั้นนำวุ้นที่ได้ไปเททับวุ้นใบเตยที่เซ็ตตัวดีแล้ว และพักทิ้งไว้เพื่อให้วุ้นเซ็ตตัว
- เมื่อวุ้นเซ็ตตัวแล้ว ให้นำมีดแซะขอบเพื่อให้วุ้นออกจากพิมพ์ได้ง่าย พร้อมตัดแบ่งแบบชิ้นพอดีคำ และจัดเสิร์ฟได้เลย
11. ขนมใส่ไส้
ขนมไทยสุดคลาสสิคที่มาพร้อมกับใบตองพร้อมไม้กลัด วิธีกินคือต้องแผ่ตัวใบตองอ่อน ก่อนจะเจอกับขนมสีขาวที่มีไส้สุดอร่อยที่จะได้กลิ่นหอมจากใบเตยที่ห่อมา พร้อมกับรสชาติหวานจากตัวไส้ และตัดด้วยความเค็มของตัวกะทิอย่างลงตัว
ส่วนผสมขนมใส่ไส้
1. มะพร้าวขูด 300 กรัม
2. น้ำตาลปี๊บ 240 กรัม
3. แป้งข้าวเหนียว 350 กรัม
4. แป้งข้าวเจ้า 80 กรัม
5. กะทิ 800 มล.
6. น้ำใบเตย 300 มล.
7. เกลือป่น 2 ช้อนชา
อุปกรณ์สำหรับห่อขนม
1. ใบตอง
2. ใบมะพร้าว
3. ไม้กลัด
วิธีทำขนมใส่ไส้
- เตรียมใบตองสำหรับใช้ห่อขนม ให้นำใบเตยมาตัดเป็น 2 ขนาด ชั้นนอกใช้ประมาณ 5 นิ้ว และชั้นใน 4 นิ้ว พร้อมเช็ดให้สะอาด แนะนำว่าหากอยากห่อขนมให้ง่ายขึ้นให้นำใบตองไปลนไฟรอบๆ เล็กน้อย
- นำมะพร้าวขูดมาสสมกับเกลือป่น และน้ำตาลปี๊บ จากนั้นนำไปกวนในกระทะด้วยไฟอ่อน กวนไปประมาณ 20 นาที หรือจนส่วนผสมแห้ง หลังจากนั้นปิดไฟ และนำมาพักไว้ให้เย็น
- ผสมแป้งข้าวเหนียว และน้ำใบเตยเข้าด้วยกันแล้วจึงนวดแป้งให้เป็นก้อน ก่อนจะพักทิ้งไว้ คลุมด้วยผ้าขาวบางหรือใช้พลาสติกแร็ปคลุมหน้าแป้งไม่ให้หน้าแป้งแห้ง
- ใช้กะทิประมาณ 200 มล. ผสมกับแป้งข้าวเจ้า เกลือ และกลิ่นมะลิลงไปในกะทะ พร้อมคนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน แล้วจึงเติมกะทิ 600 มล. ลงไปด้วยไฟอ่อน และคนไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่ากะทิเหนียวข้นขึ้นจึงปิดไฟแล้วพักทิ้งไว้ให้เย็นลง
- เมื่อเย็นลงแล้วให้ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดประมาณ 1 นิ้ว แล้วจึงปั้นแป้งให้ใหญ่กว่าตัวไส้ แผ่แป้งออกแล้วจึงใส่ใส้ พร้อมห่อให้ตัวแป้งมิดใส้
- นำใบตองที่เตรียมเอาไว้มาทับกันเป็น 2 แผ่นชนกัน แล้วจึงวางขนมไว้บนใบตอง แล้วราดด้วยน้ำกะทิเล็กน้อย ก่อนจะพับใบตอง แล้าวคาดด้วยใบมะพร้าว ตามด้วยคาดไม้กลัด
- นำไปนึ่งด้วยน้ำเดือดจัดประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนนำจัดเสิร์ฟ
12. ขนมตาล
ขนมไทยสีสันจัดจ้านสีเหลืองเด่นที่มีฐานห่อด้วยใบตอง โรยด้วยมะพร้าวอ่อน ที่น่ารับประทานด้วยเนื้อนุ่มๆ และกลิ่นหอมละมุนจากทั้งใบตอง และเนื้อลูกตาล ยิ่งทานร้อนๆ สดใหม่จากเตานึ่งรับรองว่ายิ่งฟิน เป็นสูตรขนมไทยที่ทำได้ง่ายกว่าที่คิด ถ้าพร้อมแล้วมาลงมือทำกันเลย
ส่วนผสมขนมตาล
- เนื้อลูกตาลสุก 200 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 350 กรัม
- น้ำตาลทราย 320 กรัม
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
- หัวกะทิ 300 มิลลิลิตร
- ผงฟู
- มะพร้าว (ขูด)
วิธีทำขนมตาล
- นำกะทิและน้ำตาลเทลงในชามผสม คนจนน้ำตาลละลายแล้วจึงใส่เนื้อลูกตาลสุกลงไป พร้อมตีให้เข้ากัน
- ใส่แป้งข้าวเจ้า ผงฟู และเกลือตามลงไป ตีผสมให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน หลังจากนั้นกรองส่วนผสมทั้งหมดด้วยผ้าขาวบางหรือตระแกรงตาถี่เพื่อให้เนื้อแป้งเนียนละเอียด พร้อมพักแป้งทิ้งไว้ 10 นาที
- นำใบตองมาพักเป็นทรงกลมแบบถ้วยสำหรับเป็นนพิมพ์ใส่ขนม และนำไปนึ่งก่อนประมาณ 1 นาที เพื่อไม่ให้แป้งติดพิมพ์
- เทแป้งลงในพิมพ์ใบเตย โดยใช้เวลานึ่งประมาณ 20 นาที สามารถใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มเช็คก่อนได้ว่าสุกหรือไม่ หากยังไม่สุกสามารถนึ่งเพิ่มได้
- เมื่อสุกแล้วนำยกลงจากเตา ใส่มะพร้าวขูดโรยหน้า พร้อมจัดเสิร์ฟได้เลย
13. ขนมถ้วย
ขนมถ้วยเป็นอีกหนึ่งขนมที่เราเจอได้บ่อยๆ ตามร้านอาหาร เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ เพราะเป็นของหวานล้างปากที่ดีด้วยรสชาติที่เข้ากันของทั้งชั้นใบเตย และชั้นกะทิที่มีทั้งความมันเค็ม และหวานหอม เชื่อว่าใครได้ทานขนมถ้วยแล้วคงอดใจไม่ไหวที่จะต้องทานต่อเป็นถ้วยที่สอง!
ส่วนผสมขนมถ้วย
- หางกะทิ 350 มิลลิลิตร
- ใบเตย
- น้ำตาลทราย 40 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 80 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 80 กรัม
- แป้งเท้ายายม่อม 3 ช้อนโต๊ะ
- แป้งถั่วเขียว 1 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสมหน้าขนมถ้วย
- หัวกะทิ 250 กรัม
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
- แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำขนมถ้วย
- นำใบเตยมาหั่นเป็นชิ้นเพื่อให้ปั่นได้ง่ายขึ้น และใส่หางกะทิมาปั่นด้วยกันจนละเอียด แล้วจึงกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้น้ำใบเตยเข้มข้น
- ใส่แป้งเท้ายาวม่อม แป้งถั่วเขียว แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และน้ำตาลปี๊บลงไปผสมเข้าด้วยกัน พร้อมกับค่อยๆ ทยอยใส่น้ำกะทิใบเตยที่เราเตรียมเอาไว้ลงไป ก่อนจะผสมให้ทุกอย่างเข้ากัน และนำไปกรองเพื่อให้ได้ขนมถ้วยที่เนื้อเนียนละเอียด
- มาทำต่อส่วนของกะทิ โดยนำหัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า และเกลือมาผสมเข้ากันด้วย
- ตั้งเตาเตรียมนึ่งโดยใช้ไฟปานกลาง และนำถ้วยตะไลเปล่าไปนึ่งก่อนเพื่อให้ร้อนแป้งจะได้ไม่ติดถ้วย
- จากนั้นให้หยอดตัวใบเตยลงในถ้วยก่อน แล้วจึงปิดฝานึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 10 นาที
- เช็คให้ดีว่าตัวใบเตยสุกดีแล้วจึงเทส่วนผสมกะทิตามลงไป แล้วนึ่งต่ออีก 10 นาทีด้วยไฟแรงเพื่อให้หน้ากะทิแตกมัน
- เมื่อสุกดีแล้ว พร้อมหยิบเสิร์ฟได้เลย
14. ขนมถั่วแปบ
ขนมไทยที่ให้หลากหลายรสสัมผัสในหนึ่งเดียว ทั้งความเหนียวนุ่มจากตัวแป้ง ที่มีสอดใส้ด้านในด้วยถั่วเขียวเลาะเปือก พร้อมกับน้ำตาลและงาดำ งาขาวคั่วที่โรยหน้าจึงเขื่อว่าเป็นขนมที่ถูกใจใครหลายคนแน่นอน ดังนั้นอยากทำสูตรขนมไทยถั่วแปบมาลองทำตามกันได้เลย!
ส่วนผสมขนมถั่วแปบ
- ถั่วเขียวเลาะเปลือก 80 กรัม
- แป้งข้าวเหนียว 160 กรัม
- มะพร้าวขูด 2 ถ้วย
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 3 ช้อนชา
- น้ำใบเตย 1/4 ถ้วย หรือน้ำอื่นๆ เช่นน้ำอัญชัน
- งาขาว งาดำ
วิธีทำขนมถั่วแปบ
- นำถั่วเขียวเลาะเปือกที่ผ่านการนึ่งจนนิ่มมาแล้ว มาผสมกับมะพร้าว เกลือ และน้ำตาลทราย จนเข้ากัน แล้วพักทิ้งไว้
- นำแป้งข้าวเหนียวค่อยๆ ผสมกับน้ำใบเตยพร้อมนวดให้เข้ากัน ในขั้นตอนนี้หากใครอยากทำถั่วแปบสีอื่นๆ ให้เปลี่ยนจากน้ำใบเตยเป็นน้ำอื่น เช่นน้ำอัญชัน หรือน้ำแดง
- ปั้นแป้งเป็นวงกลม แล้วจึงกดให้แป้งแบน
- ตั้งไฟปานกลางนำแป้งลงไป รอจนแป้งสุกลอยขึ้นมาจากหม้อ แล้วจึงใช้กระชอนตักไปแช่ในน้ำเย็น
- นำแป้งมาคลุกกับถั่วแล้วพยายามจับให้แป้งเป็นทรงเรียวยาว จากนั้นนำมาโรยด้วยน้ำตาลทราย งาขาว และงาดำตามใจชอบ พร้อมจัดเสิร์ฟได้เลย
15. ข้าวต้มมัด
ขนมไทยที่มาด้วยใบตองห่อหุ่ม ก่อนจะแกะออกมาเจอกับข้าวเหนียวที่สอดไส้ไส้กล้วย ไส้เผือก และถั่วดำ มีทั้งรสชาติหวาน มัน และความเหนียวนุ่มของข้าวเหนียว ให้รสชาติที่ผสมกันออกมาแล้วลงตัวละมุนลิ้นสุดๆ
ส่วนผสมข้าวต้มมัด
- ข้าวเหนียวเขี้ยวงูดิบ 320 กรัม
- หัวกะทิ 480 กรัม
- ถั่วดำ 80 กรัม
- น้ำตาลทราย 200 กรัม
- เกลือป่น 2 ช้อนชา
- ใบเตย
- กล้วยน้ำว้าสุก หรือเผือกกวน
อุปกรณ์สำหรับห่อขนม
- ใบตอง
- ตอก หรือเชือกสำหรับห่ออาหาร
วิธีทำข้าวต้มมัด
- นำข้าวเหนียวเขี้ยวงูไปล้างก่อนจะนำไปแช่ด้วยน้ำเปล่าข้ามคืน หรือหากรีบให้แช่ทิ้งไว้ประมาณ 5 ชั่วโมงขึ้นไป หลังจากนั้นให้ตักขึ้นสะเด็ดน้ำ พร้อมพักทิ้งไว้
- ล้างถั่วดำแล้วแช่ไว้ข้ามคืนเช่นเดียวกัน ก่อนจะนำไปต้มด้วยน้ำเดือดประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วตักมาพักทิ้งไว้ให้แห้ง
- ใส่หัวกะทิ และเกลือลงในกระทะด้วยไฟกลาง คนส่วนผสมไปทางเดียวกันจากนั้นจึงใส่ใบเตยเพิ่มกลิ่นหอม
- เมื่อกะทิเดือดให้ใส่ข้าวเหนียวลงไป คนเบาๆ ให้ส่วนผสมไปทางเดียวกัน ระวังอย่าให้ข้าวเหนียวเม็ดหักจะทำให้ข้าวต้มมัดไม่สวย คนไปเรื่อยๆ จนข้าวเหนียวดูดน้ำกะทิเข้าไป ผัดต่อไปเรื่อยๆ แล้วจึงใช้ไฟอ่อน จะสังเกตได้ว่าข้าวเหนียวสุก และเริ่มแห้ง
- ใส่น้ำตาลทรายตามลงไปพร้อมกับคน จนข้าวเหนียวมีความเงาจึงปิดไฟยกลงจากเตา
- นำถั่วดำวางลงในใบตองเตรียมห่อ แล้วจึงใส่ข้าวเหนียวที่ผัดเอาไว้ตามลงไป ตามด้วยกล้วยที่ผ่าครึ่งท่อน แล้วจึงตักข้าวเหนียวอีกรอบเพื่อทับหน้ากล้วย
- พับใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยม พร้อมจับจีบห่อให้สวยงาม ห่อเป็นสองชิ้นก่อนจะนำมาประกบและมัดกัน
- นำข้าวต้มมัดไปเตรียมนึ่งด้วยไฟแรง ใช้เวลานึ่งประมาณ 2 ชั่วโมง เตรียมจัดเสิร์ฟได้เลย
สรุปท้ายบทความ
และนี่คือ 15 สูตรขนมไทยที่คัดมาให้แล้วว่าเป็นสุดยอดขนมไทยที่ให้รสชาติอร่อย เนื้อสัมผัสที่ดีเยี่ยม และวิธีการทำที่ไม่ยากจนเกินไป ใครจะทำเป็นของว่างให้กับคนในครอบครัว หรือของหวานล้างปากก็บอกเลยว่าเป็นสูตรขนมไทยที่ใครได้ทานรับรองว่าจะต้องติดใจอย่างแน่นอนค่ะ